มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่เท่าใด ก็ให้ขออนุญาตหยุดเสียก่อนที่จะ "เกษียณอายุ"
คดีแดงที่ 2274/2529 | นายนิรันดร์ ยวดยง โจทก์ |
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 10, 45
โจทก์จะครบเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2528 ครั้นวันที่ 10 มิถุนายน 2528 ก่อนโจทก์ครบเกษียณอายุ 3 เดือน 21 วัน จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า หากโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่เท่าใดก็ให้ขออนุญาตหยุดเสียก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุ ถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 10 แล้ว เป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์เลือกวันหยุดเอาเองเพื่อความสะดวกแก่โจทก์ ได้ชื่อว่าจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมหยุดเอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุครบเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ ๑๐ วัน และให้สะสมได้ไม่เกิน ๒๐ วัน โจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๗ และปี พ.ศ. ๒๕๒๘ รวมเป็นเวลา ๒๐ วัน รวมเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๗,๓๐๖.๖๐ บาท ซึ่งจำเลยยังมิได้จ่ายให้โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยแล้วซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก จำเลยได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีเสียก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุ แต่โจทก์สมัครใจมาทำงานเองโดยจำเลยไม่ได้สั่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์จะครบเกษียณอายุในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๘ ครั้นวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๘ ก่อนโจทก์ครบเกษียณอายุ ๓ เดือน ๒๑ วัน จำเลยก็มีหนังสือตามเอกสารหมายเลข ๖ ท้ายคำให้การถึงโจทก์แจ้งว่าหากโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่เท่าใดก็ให้ขออนุญาตหยุดเสียก่อนที่โจทก์จะเกษียณอายุ กรณีดังกล่าวนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑๐ แล้ว เป็นการกำหนดช่วงระยะเวลาให้โจทก์เลือกวันหยุดเอาเองเพื่อความสะดวกแก่โจทก์ ได้ชื่อว่าจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้วเมื่อโจทก์ไม่ยอมหยุดเอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ กรณีเทียบเคียงได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๖๘/๒๕๒๕ คดีระหว่าง นางชุลีวรรณ เลิศสุทธิรักษ์ โจทก์ บริษัทอัลลายนิวสเปเปอร์ จำกัด จำเลย
พิพากษายืน
(จุนท์ จันทรวงศ์ - สมบูรณ์ บุญภินนท์ - มาโนช เพียรสนอง )
ศาลแรงงานกลาง - นายปรีชา บุญญานันต์
ศาลอุทธรณ์ -