การสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ
คดีแดงที่ 1019/2532 | นางสาวภักดี เทียมมาลา โจทก์ |
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3), 68
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่ใช้อยู่ขณะเกิดเหตุไม่มีข้อความกล่าวถึงสิทธิของนายจ้างในการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ และโทษของลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนไว้ ต่อมานายจ้างได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติได้ นายจ้างจึงกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับคำสั่งลงลายมือชื่อในบัญชีพนักงานทำงานล่วงเวลา และได้กำหนดโทษลูกจ้างที่ฝ่าฝืนคำสั่งเป็นขั้น ๆ ไว้ในเอกสารดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีที่ นายจ้าง กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมนายจ้างจึงต้องผูกพันปฏิบัติตามข้อบังคับที่เพิ่มเติมนั้น.
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ก่อนหน้านี้จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในกรณีเดียวกันมาหลายครั้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ตกลงที่จะทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามคำสั่งจำเลย โดยลงชื่อในบัญชีรายชื่อพนักงานทำงานล่วงเวลาของจำเลย แต่โจทก์ไม่มาทำงานตามกำหนด จึงเป็นกรณีโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ แต่ตามบัญชีรายชื่อพนักงานทำงานล่วงเวลามีข้อความบันทึกไว้ในช่องหมายเหตุว่า "พนักงานคนใดได้รับคำสั่งแล้วไม่ทำตามคำสั่ง บริษัทจะงดจ่ายคูปองครั้งที่ ๑ งดจ่าย ๒ สัปดาห์ ครั้งที่ ๒ งดจ่าย ๓ สัปดาห์ ครั้งที่ ๓ งดจ่าย ๑ เดือน เป็นการกำหนดโทษลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องถือเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นคุณยิ่งกว่า จำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์เฉพาะงดจ่ายคูปอง การที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างจึงไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งจำเลยใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงสิทธิของจำเลยในการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ หรือกล่าวถึงโทษลูกจ้างที่ฝ่าฝืนไว้ ฉะนั้น เมื่อต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติได้ แล้วจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งได้รับคำสั่งจากจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อพนักงานทำงานล่วงเวลาซึ่งจำเลยกำหนดขึ้น และจำเลยได้กำหนดโทษของลูกจ้างซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งไว้เป็นขั้น ๆ ในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นกรณีจำเลยกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเดิมของจำเลย จำเลยผูกพันต้องปฏิบัติตาม เมื่อการงดจ่ายคูปองเป็นโทษที่จำเลยกำหนดไว้ในบัญชีรายชื่อพนักงานทำงานล่วงเวลา ต้องถือว่ากรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยโดยไม่ทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามคำสั่งของจำเลย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยประสงค์จะลงโทษลูกจ้างแต่เฉพาะการงดจ่ายคูปอง การที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓)
พิพากษายืน
(สุพจน์ นาถะพินธุ - มาโนช เพียรสนอง - วิศิษฎ์ ลิมานนท์ )
ศาลแรงงานกลาง - นายศุภชัย ภู่งาม
ศาลอุทธรณ์ -