ปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้


587 ผู้ชม


ปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้




คดีแดงที่  3812/3812

นายไกรสา อินต๊ะ กับพวก โจทก์
๕๔๒ บริษัทเบสท์สตีลเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
กับพวก จำเลย
ฯลฯ

 

ป.วิ.พ. มาตรา 84, 86, 104
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 52
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง หมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อ

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยแถลงเพียงว่า จำเลยปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ย่อมไม่เพียงพอฟังว่า โจทก์ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องใช้วินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสองหรือไม่ การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จึงไม่ชอบ

ศาลแรงงานอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจากอัตราค่าจ้างวันละ 160 บาท เป็นวันละ 162 บาทแล้ว แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้โจทก์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยคำนวณจากค่าจ้างวันละ 160 บาทเป็นการไม่ถูกต้อง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งหมดทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยโจทก์ทั้งหมดไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง

จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหมด เพียงแต่จำเลยปิดกิจการตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑

ในวันนัดพิจารณาจำเลยแถลงรับว่าจำเลยปิดกิจการตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหมด

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย การที่จำเลยปิดกิจการตั้งแต่วันที่ ๑๖กรกฎาคม ๒๕๔๑ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งหมดไม่มีความผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหมด แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๐,๕๐๐ บาท ๒๐,๗๐๐ บาท ๔๐,๕๐๐ บาท ๑๘,๙๐๐บาท ๑๕,๓๐๐ บาท ๑๕,๓๐๐ บาท ๓๕,๑๐๐ บาท ๑๕,๓๐๐ บาท ๑๕,๓๐๐ บาท๑๕,๓๐๐ บาท ๓๙,๖๐๐ บาท ๔๗,๗๐๐ บาท ๑๔,๕๘๐ บาท ๖๐,๐๐๐ บาท และ๕๕,๘๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ตามลำดับ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒,๔๗๕ บาท ๒,๕๓๐ บาท ๒,๔๗๕ บาท ๒,๓๑๐ บาท ๑,๘๗๐ บาท ๑,๘๗๐บาท ๒,๑๔๕ บาท ๑,๘๗๐ บาท ๑,๘๗๐ บาท ๑,๘๗๐ บาท ๒,๔๒๐ บาท ๒,๙๑๕บาท ๑,๗๖๐ บาท ๕,๖๖๖ บาท และ ๓,๔๑๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ตามลำดับ

จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับฟังพยานหลักฐาน และจำเลยปิดกิจการยังไม่เป็นการเลิกจ้างนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสอง บัญญัติว่าการเลิกจ้างหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่ทนายจำเลยทั้งสิบห้าสำนวนแถลงเพียงว่า จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนปิดกิจการตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม๒๕๔๑ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหมด แล้วสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑ ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอฟังว่าโจทก์ทั้งหมดไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องใช้วินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสอง หรือไม่

อนึ่ง ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ ๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจากอัตราค่าจ้างวันละ๑๖๐ บาท เป็นวันละ ๑๖๒ บาท แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑๓ ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๑ วันเป็นเงิน ๑,๗๖๐ บาท เป็นการคำนวณจากค่าจ้างวันละ ๑๖๐ บาท ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานในเรื่องโจทก์ทั้งหมดไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างหรือไม่จนสิ้นกระแสความแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

 

(ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน - พิมล สมานิตย์ - วิรัตน์ ลัทธิวงศกร )

 

ศาลแรงงานกลาง - นางจันทิมา บำรุงศักดิ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด