หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าชดเชย แตกต่างกับกฎหมาย


805 ผู้ชม


หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าชดเชย แตกต่างกับกฎหมาย




คดีแดงที่  6950/2541

นายธวัช หงษ์หัสบรรณ โจทก์
บริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย
จำกัด (มหาชน) จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 150, 204, 582, 583
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47

แม้การจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานของจำเลย มีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เช่นระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น เงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ก็ตาม แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไปจำเลยย่อมมีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานได้ เมื่อปรากฏว่าระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง โดยคำนวณตามสูตรที่จะกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงินซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน กรณีถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินซึ่ง ป.พ.พ.มาตรา582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานการที่จำเลยกำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจากจำเลยเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์

สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2541 แต่จำเลยไม่ชำระ กรณีถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

(วิรัตน์ ลัทธิวงศกร - เสมอ อินทรศักดิ์ - ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสมพงษ์ เหมวิมล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด