นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิด..


624 ผู้ชม


นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิด..




คดีแดงที่  2508/2541

นายเอนก สุทธิโสม โจทก์
บริษัทศรีสากลสตีลกรุ๊ป จำกัด จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 243
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31, 56
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45, 47

แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 บัญญัติว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย บทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่า ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 10 อยู่แล้ว ดังนั้น หากลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีและนายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องลูกจ้างยังมีสภาพเป็นลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นซึ่งรวมถึงเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ย่อมไม่ชอบ

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ไปหักจากวันที่โจทก์ขาดงานและลางานเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว คำให้การจำเลยดังกล่าวชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงส่วนนี้ กรณีจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

 

(วิรัตน์ ลัทธิวงศกร - พรชัย สมรรถเวช - สมมาตร พรหมานุกูล )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายธีระยุทธ ทรัพย์นภาพร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด