ปัญหาของ คำว่า ลูกจ้าง & นายจ้าง


762 ผู้ชม


ปัญหาของ คำว่า ลูกจ้าง & นายจ้าง




คดีแดงที่  2417/2544

นายปรีชา พรประภา โจทก์
บริษัทสยามกลการ จำกัด กับพวก จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 575, 583
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2, 47

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 และข้อ 47 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาสามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้

เมื่อฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของบริษัทจำเลย โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานในบริษัทจำเลยรองจากประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของบริษัทจำเลย อีกทั้งไม่มี ผู้ใดในบริษัทจำเลยสามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่โจทก์เป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ ๑ เพราะเป็นผู้ร่วมลงทุนโดยถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ ในจำนวนร้อยละ ๑๐ โจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการและประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นลูกจ้าง แต่เป็นฝ่ายบริหารและเป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ เช่นเดียวกับลูกจ้างคนอื่น ๆ เมื่อโจทก์มิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่โจทก์ขอ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ ก่อตั้งโดยนายถาวร พรประภา ซึ่งเป็น พี่ชายโจทก์และเป็นบิดาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ เดิมโจทก์เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ยังเป็นกรรมการในบริษัทในเครือของจำเลยที่ ๑ อีกหลายบริษัท โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจำเลยที่ ๑ รองจากนายถาวร พรประภา ซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ บุคคลในตระกูลพรประภาและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ อีกทั้งไม่มีผู้ใดสามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ ต่อมาวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๙ ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ ได้มีมติไม่แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๒ บัญญัติว่า "นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล" ส่วน "ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้รับค่าจ้างด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน" และข้อ ๔๗ บัญญัติว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(๑) …

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือน เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน" ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ บัญญัติว่า "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้" บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาสามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานในบริษัทจำเลยที่ ๑ รองจากนายถาวร พรประภา ซึ่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ โจทก์และบุคคลในตระกูลพรประภาไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ อีกทั้งไม่มีผู้ใดในบริษัทจำเลยที่ ๑ สามารถสั่งการหรือบังคับบัญชาโจทก์ได้ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป

พิพากษายืน.

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - กมล เพียรพิทักษ์ - จรัส พวงมณี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสุรศักดิ์ นาราสัจจ์

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด