นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิด


684 ผู้ชม


นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิด




คดีแดงที่  1902/2523

นางสาวสุณีรัตน์ จันทร์เวชเกษม โจทก์
บริษัทโรงพยาบาลพัฒนเวช จำกัด กับพวก จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 10,72, 45
ป.พ.พ. มาตรา 75, 575, 820
ป.วิ.พ. มาตรา 142

จำเลยจ้างให้โจทก์ทำงานจนกว่า จำเลยจะหาคนทำงานแทนโจทก์ได้ เป็นเวลากว่า 3 ปี จำเลยจึงหาคนมาทำงานแทนโจทก์ได้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ โจทก์มิได้ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จให้แก่จำเลย และจำเลยจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น หากแต่เป็นเรื่องโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง ในหน้าที่ซึ่งจำเลยมอบให้ และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างเป็นแรงงาน หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 45 ประกอบด้วย ข้อ 10 และข้อ 32 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน และนายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน แม้ตามสภาพของงานโจทก์ต้องไปทำงานให้จำเลยสัปดาห์ละเพียง 2 หรือ 3 วัน ก็ไม่มีกฎหมายหรือประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีก และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดล่วงหน้าให้วันใดในแต่ละสัปดาห์เป็นวันทำงานซึ่งโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อน ฉะนั้น จึงจะถือว่านอกจากเวลาทำงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน แล้วนอกนั้นเป็นวันหยุดของโจทก์ทั้งสิ้นย่อมไม่ถูกต้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้ทำงานให้จำลยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยไม่เคยหยุดพักผ่อนประจำปีเลย จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีละ 6 วัน รวม 18 วัน

เมื่อจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นนายจ้างซึ่งต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และไม่ปรากฏเหตุที่จะต้องรับเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์และข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้เอง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำผิดแต่อย่างใด และมิได้บอกกล่าวการเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า ๓ ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑,๔๐๐ บาท และโจทก์มิได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปีเลย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ๘,๔๐๐ บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑,๖๘๐ บาท ค่าเสียหายเนื่องจากมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า๑ เดือน ๑,๔๐๐ บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา ๔๙ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖,๔๘๐ บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยตกลงกับโจทก์ขอให้โจทก์ทำงานเป็นการชั่วคราวจนกว่าจำเลยจะหาคนทำงานแทนโจทก์ได้ หากมีคนทำงานแทนได้ก็เป็นอันเลิกจ้าง การปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องมาทุกวัน เดือนหนึ่ง ๆ อาจมาทำงานเพียงวันหรือสองวันก็ได้ ไม่ต้องทำงานในเวลาราชการ เพราะโจทก์เป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนประจำ ณ ที่อื่นอยู่แล้ว เพื่อเป็นสินน้ำใจในการทำงานจำเลยจึงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เดือนละ ๑,๔๐๐ บาท เมื่อจำเลยหาคนงานมาทำงานแทนโจทก์ได้แล้ว จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้องมาในฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสอบโจทก์ โจทก์แถลงว่า ที่เรียกค่าเสียหาย เนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยเหตุไม่เป็นธรรมนั้น หมายถึงถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุอะไร และคู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ให้จำเลยทุกวัน ตามสภาพของงานอาจทำอาทิตย์ละ ๒ หรือ ๓ วัน ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยาน แล้วินิจฉัยว่า โจทก์ทำเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลา กว่า ๓ ปี แล้วถูกเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๑๘๐ วัน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา ๕๘๒ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ๑ เดือน สำหรับค่าทำงานในวันหยุดประจำปีนั้น ตามสภาพของงาน โจทก์ทำงานเพียงสัปดาห์ ละ ๒ - ๓ วัน เท่านั้น จึงเป็นงานที่ต้องทำเมื่อเกิดความจำเป็น จึงอาจทำงานในวันหยุดด้วย นอกจากเวลาทำงานสัปดาห์ละ ๒ -๓ วันแล้ว นอกนั้นก็เป็นวันหยุด ของโจทก์ทั้งสิ้น โจทก์จะมาเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอีกไม่ได้ ส่วนค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท เนื่องจากโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ แพ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานนั้น ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องมีสาเหตุอะไร แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ การเลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุอะไรนั้น จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ และศาลก็ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แล้ว กรณีไม่เข้ามาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้

พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๖ เดือน เป็นเงิน ๘,๔๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับการที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา มีกำหนด ๑ เดือน เป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๙,๘๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เลิกจ้าง เป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเงินต้นเสร็จ คำขออื่นให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ถึงหากจะถือว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มุ่งหมายจะให้บังคับใช้แก่การจ้างแรงงาน ไม่ใช้แก่การจ้างทำของด้วย แต่การที่จำเลยจ้างให้โจทก์ทำหน้าที่ควบคุมดูแลห้องแล๊บฯ จนกว่า จำเลยจะหาคนทำงานงานแทนโจทก์ได้แล้ว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า โจทก์มิได้ตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่จำเลยและจำเลยจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น หากแต่เป็นเรื่องโจทก์ตกลงทำงาน ให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง ในหน้าที่ซึ่งจำเลยมอบให้ และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างเป็นรายเดือน ตลอดเวลาที่โจทก์ทำงานให้ ลักษณะของสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่สัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่

วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๕ มีความว่า

ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ ๔๗ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ ๑๐ และข้อ ๑๒ ด้วย ข้อ ๑๐ วรรคแรกมีความว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ ๑ ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ ๖ วัน ทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ วรรคสองมีความว่า นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ ข้อ ๓๒ มีความว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างประจำเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดต่อไปนี้...... ฯลฯ .... (๓) วันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ตามสภาพของงานโจทก์ต้องไปทำงานให้จำเลยสัปดาห์ละเพียง ๒ หรือ ๓ วัน แต่ไม่มีกฎหมายหรือประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ที่ใดว่า ในกรณีที่จ้างลูกจ้างประจำให้ทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน ๓ วันเช่นนี้ ลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีก และการจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์นี้ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดล่วงหน้าให้วันใดในแต่ละสัปดาห์เป็นวันทำงานซึ่งโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อน ที่ศาลแรงงานกลางถือว่า นอกจากเวลาทำงานสัปดาห์ละ ๒-๓ วัน แล้วนอกนั้นเป็นวันหยุดของโจทก์ทั้งสิ้นย่อมไม่ถูกต้อง ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้ทำงานให้จำเลยมาเป็นเวลา๓ ปีกว่า โดยไม่เคยหยุดพักผ่อนประจำปีเลย จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีละ ๖ วัน รวม ๑๘ วัน เป็นเงิน ๘๔๐ บาท

อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินให้โจทก์ด้วย นั้นยังเป็นการคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะจำเลยที่ ๑ เท่านั้นที่เป็นนายจ้างซึ่งต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๒เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล (ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง) ไม่ปรากฏเหตุที่จะต้องรับเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย และข้อหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้เอง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๘,๔๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับการที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ว่าจะเลิกสัญญา ๑ เดือนเป็นเงิน ๑,๔๐๐ บาท และค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๘ วัน เป็นเงิน ๘๔๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐,๖๔๐ บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จากเงินต้นดังกล่าว ในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

 

(ประทีป ชุ่มวัฒนะ - ภิญโญ ธีรนิติ - สมบูรณ์ บุญภินนท์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายประคนธ์ พันธุ์วิชาติกุล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด