นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุ


1,350 ผู้ชม


นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุ




คดีแดงที่  1566/2523

นายพล มีมงคล กับพวก โจทก์
บริษัทไทยเดินเรือนทะเล จำกัด จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2, 46 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ ่21 มิถุนายน 2521 ข้อ 2 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2

การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุ เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 ที่แก้ไขแล้ว

การที่จำเลยมีระเบียบว่า ลูกจ้างจะถูกสั่งให้ออกเมื่อปฏิบัติงานมาถึงสิ้นงบประมาณซึ่งเป็นปีที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไป โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน

เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลย เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้สำหรับความดี ความชอบในการที่ลูกจ้างได้ทำงานมาเกินกว่า 3 ปี และออกจากงานไปโดยไม่มีความผิดทางวินัยเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เงินจำนวนหนึ่ง แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ทั้งข้อความ ตามระเบียบของจำเลยก็มิได้แสดงว่าประสงค์ให้เงินบำเหน็จนั้นเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายข้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างหาใช่ค่าชดเชยไม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า โจทก์ทั้งสองมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ เป็นการเกษียณอายุ โจทก์ทั้งสองต่างได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๔,๐๗๐.๖๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๖ฐ๘๘๐ บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์พ้นสภาพการจ้างโดยครบเกษียณอายุ เป็นเรื่องโจทก์ขาดคุณสมบัติตามระเบียบและข้อบังคับการจำเลยโดยไม่มีการเลิกจ้าง โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามข้อ ๔๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานและจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้ตามระเบียบและข้อบังคับแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอีก ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริง บางประการ แล้วแถลงไม่สืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินบำเหน็จที่ลูกจ้างพึงได้รับตามระเบียบของจำเลยมิใช่ชดเชย และตามระเบียบ ที่ ๑๘/๒๕๑๙ ข้อ ๓ จำเลยขอต่ออายุการทำงานให้ลูกจ้างที่มีอายุ ๖๐ ปี บริบูรณ์ คราวละไม่เกินหนึ่งปี จนถึงปีที่อายุครบ ๖๕ ปี บริบูรณ์ก็ได้ หรืออาจจะไม่ต่ออายุการทำงานให้ก็ได้ จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน หรือโจทก์ขาดคุณสมบัติ จำเลยไม่ต่ออายุการทำงานให้ก็ได้ จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน หรือโจทก์ขาดคุณสมบัติ จำเลยไม่ต่ออายุการทำงานให้โจทก์และให้ออกจากงาน เป็นเลิกจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ให้โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวง มหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒ วรรคสอง มีความว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ หรือ... ฯลฯ ... เห็นว่า การเลิกจ้างจึงหมายถึง การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ระเบียบของจำเลย ๑๘/๒๕๑๗ ว่าด้วยการสั่งให้พักงาน สั่งให้ออก ปลดไล่ออก เลิกจ้างของพนักงานและคนงานท่าเรือบางปะกอก ข้อ ๓ กำหนดว่า การสั่งให้ออก ถ้าพนักงานหรือคงงานผู้ใด ถูกสั่งให้อกตามเหตุผลดังต่อไปนี้ ฯลฯ ๓.๔ ปฏิบัติงานมาถึงสิ้นปี งบประมาณ ซึ่งเป็นปีที่มีอายุความ ๖๐ ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ดี เฉพาะผู้ที่อายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ซึ่งยังมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นประโยชน์ต่อท่าเรือบริษัทฯ เมื่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นของบุคคลดังกล่าวเสนอขอ ท่าเรือบริษัทฯ อาจพิจารณา ต่ออายุการทำงานให้เป็นคราวคราวละ ไม่เกินหนึ่งปี จนถึงปีที่อายุครบ ๖๕ ปีบริบูรณ์ก็ได้ ....ฯลฯ... ดังนี้ การที่ลูกจ้างของจำเลยมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์เป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยจะสั่งให้จำเลยสั่งให้โจทก์ออกเพราะครบเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้วตามที่กล่าวข้างต้น มิได้ระบุความหมายของ การเลิกจ้าง ว่า รวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุความกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือข้อตกลง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างดังที่ระบุไว้เดิมตามที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๒๑ มิถุนาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒ ก็หาทำให้การที่จำเลยสั่งให้โจทก์ออกเพราะครบเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้างไม่

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๔ ข้อ ๔๖ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒ มีความว่า ความในข้อนี้มีให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ฯลฯ เห็นว่า การที่จำเลยมีระเบียบว่า ลูกจ้างจะถูกสั่งให้ออกเมื่อปฏิบัติงานมาถึงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งเป็นปีที่มีอายุครอบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ว่า มิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิใช่เป็นการตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไป โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ นิยามคำว่า ค่าชดเชยไว้ว่า หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างส่วนระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จแก่พนักงาน พ.ศ. ๒๕๒๐ ปรารภว่า โดยเห็นเป็นการสมควรแก้ไขปรับปรุงวิธีการให้การสงเคราะห์แก่พนักงานเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบัน และข้อ ๙ กำหนดว่า พนักงานผู้ใดที่มีอายุการทำงานเกิน ๓ ปี ขึ้นไป หากลาออก หรือลูกให้ออก หรือเลิกจ้าง โดยไม่มีความผิดทางวินัย ท่าเรือบริษัทฯ จะจ่ายเงินบำเหน็จให้ โดยถือเกณฑ์อัตราเงินเดือนที่พนักงานผู้นั้น ได้รับอยู่ในเดือนสุดท้าย คูณด้วย จำนวนปีที่พนักงานผู้นั้นทำงานมาทั้งสิ้น เศษของปีถ้าเกินว่า ๖ เดือน ให้นับเป็น ๑ ปี เห็นว่า เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวเป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้สำหรับความดีความชอบ ในการที่ลูกจ้างได้ทำงานมาเกินกว่า ๓ ปี และออกจากงานไปโดยไม่มีความผิดวินัย เป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ทั้งข้อความตามระเบียบของจำเลยก็มิได้ แสดงว่าประสงค์ให้เงินบำเหน็จนั้นเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างหาใช่ค่าชดเชยไม่

พิพากษายืน

 

(สมบูรณ์ บุญภินนท์ - ภิญโญ ธีรนิติ - ประทีป ชุ่มวัฒนะ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายศุภนิติ กิจวรวัฒน์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด