การสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี


638 ผู้ชม


การสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี




คดีแดงที่  1610/2526

นายกลิ่น พักผ่อน กับพวก โดยนายเจือ เตมีย์เสน ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำเลย

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 วรรค 2

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ10 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติใจความว่า นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้และนำไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ มิใช่เป็นบทบังคับ แต่เป็นการให้สิทธินายจ้างและลูกจ้างที่จะทำความตกลงกัน เมื่อนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ทำความตกลงกันในข้อนี้ ข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า ถ้าไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ให้ถือว่าสละสิทธิและหมดสิทธิที่จะนำไปสะสมไว้ในปีต่อไป จึงใช้บังคับได้ และการสละสิทธิดังกล่าวก็หาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลยโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐ วันทำงาน แต่จำเลยไม่เคยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ และไม่ได้จ่ายค่าจ้างอีกเท่าหนึ่งสำหรับการทำงานในวันหยุด ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๔ ให้แก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า ตามข้อบังคับของจำเลย หากพนักงานจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีต้องยื่นใบลาล่วงหน้าก่อนถึงวันลาอย่างน้อย ๕ วัน หากไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีใดให้ถือว่าสละสิทธิการลาพักผ่อนในปีนั้น โจทก์ทั้งห้าไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนเอง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ที่ ๕ ได้ลาพักผ่อนประจำปี ๒๕๒๓ แล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ

วันนัดพิจารณา โจทก์รับว่าข้อบังคับของจำเลยมีอยู่จริง และโจทก์ที่ ๕ ลาพักผ่อนประจำปี ๒๕๒๓ แล้ว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่สิทธิลาพักผ่อนและมาทำงานโดยความสมัครใจของตนเอง โดยจำเลยมิได้สั่งหรือขอให้มาทำงาน โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ วรรคสอง บัญญัติใจความว่า นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไว้และจะนำไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ จึงไม่ใช่บทบังคับ แต่ให้สิทธินายจ้างและลูกจ้างที่จะทำความตกลงกันดังที่บัญญัติไว้นั้นได้ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่านายจ้างและลูกจ้างได้ทำความตกลงกันในข้อนี้ เมื่อข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดว่า ถ้าไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีให้ถือว่าสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนและหมดสิทธิที่จะนำไปสะสมไว้ในปีต่อไป ข้อบังคับนั้นก็ใช้บังคับได้ หาเป็นการขัดต่อกฎหมายไม่

เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าเป็นการสละสิทธิ การสละสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือดังที่โจทก์อุทธรณ์

พิพากษายืน

 

(สุรัช รัตนอุดม - ขจร หะวานนท์ - จุนท์ จันทรวงศ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชลอ บุณยเนตร

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด