ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน


649 ผู้ชม


ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน




คดีแดงที่  1081/2542

นางวัชรา นววงศ์ โจทก์
บริษัทสยามมีเดียแอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 386, 582
ป.วิ.พ. มาตรา 55
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10, 45, 47

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 10 บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ เมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างได้กำหนดล่วงหน้าให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่อาจอ้างได้ว่าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาหยุดเอง การที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 เป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจึงมีอำนาจฟ้อง

ลูกจ้างย่อมสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องคำนึงว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างของเดือนที่เลิกจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างหรือไม่

ลูกจ้างยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนให้แก่ลูกจ้างตามข้อ 45

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน ๓๕,๔๙๗ บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับการทำงานว่า การขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ต้องส่งใบลา ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อน ในปี ๒๕๔๑ โจทก์ไม่เคยยื่นใบลาเพื่อขอหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๘๑,๙๑๘ บาท โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ ๑๓ วัน ทำงาน ต่อมาวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ในปี ๒๕๔๑ โจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนให้แก่โจทก์ ในปี ๒๕๔๑ โจทก์ปฏิเสธงานตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เป็นเวลา ๔ เดือน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเพียง ๔ วันทำงาน เป็นเงิน ๑๐,๙๒๓ บาท พิพากษา ให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน ๑๐,๙๒๓ บาท แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อนว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า การขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จะต้องส่งใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อน แต่โจทก์ไม่เคยยื่นใบลาเพื่อขออนุญาตหยุดพักผ่อนประจำปีและจำเลยไม่เคยขอนุญาตให้โจทก์ลาหยุดพักผ่อน ประจำปีด้วย จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมีระเบียบข้อบังคับ การทำงานดังกล่าว แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๑๐ บัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละ ๖ วันทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้กำหนด ล่วงหน้าให้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าในปี ๒๕๔๑ จำเลยได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีตาม บทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ และจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๕ เช่นนี้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายสรุปได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยต้องจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับจะต้องเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันที โดยจำเลยมิได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง เพราะโจทก์ยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วจำเลยมิได้ให้โจทก์ทำงานอีกต่อไป โดยจำเลยได้จ่ายค่าจ้างของเดือนที่เลิกจ้างทั้งเดือนและยังจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก ๑ เดือน ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ โจทก์ย่อมสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าในการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจำเลยได้จ่ายค่าจ้างของเดือนที่เลิกจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพราะเงินต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิทธิตามกฎหมายที่โจทก์มิสิทธิได้รับเป็นคนละส่วนกัน ข้อเท็จจริงตามที่ ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า ในปี ๒๕๔๑ โจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ปี ๔๗ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนให้แก่โจทก์ตามข้อ ๔๕ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๑๙,๗๖๙.๕๔ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง .

 

(วิรัตน์ ลัทธิวงศกร - เสมอ อินทรศักดิ์ - ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายอิสรา วรรณสวาท

ศาลอุทธรณ์ -

อัพเดทล่าสุด