ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกคนร้ายแทงถึงแก่ความตาย


696 ผู้ชม


ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกคนร้ายแทงถึงแก่ความตาย




คดีแดงที่  911/2521

การรถไฟแห่งประเทศไทย จ.
กรมแรงงาน จ.ล.

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60
ป.วิ.พ.มาตรา 55

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 ให้อำนาจอธิบดีกรมแรงงานพิจารณาชี้ขาดอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ได้นั้น ถือได้ว่าอธิบดีกรมแรงงานกระทำในฐานะผู้แทนกรมแรงงานโดยตำแหน่งหน้าที่ ทั้งกรมแรงงานก็เป็นส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานโดยตรง โจทก์มีอำนาจฟ้องกรมแรงงานซึ่งโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 215/2517)

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๙ นายสอนลูกจ้างโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกคนร้ายแทงถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยของลูกจ้างต่อพนักงานเงินทดแทนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกร้องเงินทดแทน พนักงานดังกล่าวสอบสวนแล้ว มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนให้นางสาวพัน สมใจ และ เด็กชายทองอยู่ สมใจ เป็นรายเดือน ๆ ละ ๙๓๓ บาท ๓๐ สตางค์ มีกำหนด ๖๐ เดือน และให้โจทก์จ่ายค่าทำศพนายสอนอีก ๔,๖๖๖ บาท ๕๐ สตางค์ โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ เพราะหน้าที่ทำความสะอาดของลูกจ้างหาเป็นคุณหรือโทษให้ต้องถูกคนร้ายแทงถึงแก่ความตายไม่ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลย จำเลยมีคำสั่งว่า คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจังหวัดสุราษฎร์ธานีชอบแล้ว จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยถอนคำสั่งดังกล่าวเสีย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนเป็นอำนาจของอธิบดี หาใช่อำนาจของจำเลยไม่ และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาแต่เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๖๐ ให้อำนาจอธิบดีกรมแรงงานพิจารณาชี้ขาดอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ได้นั้น ถือได้ว่าอธิบดีกรมแรงงานกระทำในฐานะผู้แทนของกรมแรงงานโดยตำแหน่งหน้าที่ ทั้งกรมแรงงานก็เป็นส่วนราชการกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานโดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมแรงงานซึ่งโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ และตามนัยคำพิพากษาฎีกา ๒๑๕/๒๕๑๗

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

 

(พัลลภ เสถียรธรรมกิจ - ชลอ จามรมาน - พิศิษฎ์ เทศะบำรุง )

 

ศาลแพ่ง - นายไพจิตร วิเศษโกสิน

ศาลอุทธรณ์ - นายเสนอ ศรนิยม


อัพเดทล่าสุด