ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต้องการให้เพิ่มค่าจ้าง


755 ผู้ชม


ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต้องการให้เพิ่มค่าจ้าง




คดีแดงที่  11/2521

โรงเรียนอำนวยวิทย์ จ.
นายดำริ น้อยมณี กับพวก จ.ล

 

ป.วิ.พ.มาตรา 142
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ข้อ 75 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ข้อ 75 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ที่ว่า "เมื่อได้รับคำร้องกล่าวหาตามข้อ 74 แล้ว ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องกล่าวหา และถ้าปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อ 70 ข้อ 71 ข้อ 72 หรือข้อ 73 ให้สั่งเป็นหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหา กระทำหรืองดเว้นกระทำตามควรแก่กรณีโดยให้นำข้อ 15 ข้อ 16 และข้อ 17 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" นั้น เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำหรืองดเว้นกระทำตามควรแก่กรณี หมายถึงการให้กระทำหรืองดเว้นกระทำในเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหากำลังก่อความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนอยู่ตามที่ระบุไว้ในข้อ 70 ข้อ 71 ข้อ 72 หรือข้อ 73

คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาจ่ายค่าชดเชยอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 46 ของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515

ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่าคำสั่งที่ 11/2517 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2517 ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบแต่เพียงบางส่วนก็ควรพิพากษาชี้ขาดไปเพียงนั้น ไม่ควรจะพิพากษาบังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ (ลูกจ้าง) นายวิชัยกับพวกรวม 22 คน ตามคำชี้ขาดข้อ 1 ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายอีกเพราะเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรียนอำนวยวิทย์ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนวิชาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๖ นายวิชัย นาคะวิโร กับพวกรวมประมาณ ๕๐ คน ซึ่งเป็นครูของโรงเรียนนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต้องการให้เพิ่มค่าจ้าง โดยยื่นเวลาประมาณ ๑๒ นาฬิกา แล้วบีบบังคับให้โรงเรียนให้คำตอบภายในเวลา ๑๔ นาฬิกาวันเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่มีเวลาพอจะพิจารณา เมื่อถึงเวลากำหนดครูดังกล่าวก็หยุดงานทันที ทำให้นักเรียนขาดครูสอนทั้งโรงเรียน เป็นเหตุให้โรงเรียนต้องเสียหายและเสียชื่อเสียง ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๗ นายวิชัย นาคะวิโร กับพวกรวม ๒๒ คน ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกโจทก์บอกเลิกการจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งหมดอ้างว่าเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันทำคำชี้ขาดที่ ๑๑/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่นายวิชัย นาคะวิโร กับพวก เป็นเงิน ๙๑,๙๔๐ บาท ๔ สตางค์ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่โจทก์ได้รับคำสั่ง จำเลยทั้งแปดคนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขาดคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแรงงานสัมพันธ์ข้อ ๒๔ วรรคสอง จึงมิใช่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งจำเลยดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง นายวิชัยกับพวกกระทำการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแรงงานสัมพันธ์ข้อ ๙ โดยยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพียงเวลาเล็กน้อยแล้วนัดหยุดงานทันที คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย และไม่ปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้จ่ายเงินค่าชดเชยไว้ โจทก์รับโอนกิจการโรงเรียนจากนายคล้าย พงษ์เวช เจ้าของเดิมเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๗ นายคล้ายได้เลิกจ้างครูและจ่ายค่าชดเชยแก่ครูที่เลิกจ้างไปตามกฎหมายแล้ว ครั้นวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๗ โจทก์รับสมัครลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไปเข้าทำงานกับโจทก์ แต่นายวิชัยกับพวกไม่สมัครทำงานกับโจทก์ แต่ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ฉะนั้น หากจะต้องมีความรับผิดนายคล้อยจะต้องเป็นผู้รับผิดมิใช่โจทก์ ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดที่ ๑๑/๒๕๑๗ ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสีย

จำเลยทุกคนให้การว่าโรงเรียนอำนายวิทย์ไม่เป็นบุคคลตามกฎหมายที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยทั้งแปดเป็นคณะกรรมการแรงงานที่ชอบด้วยกฎหมาย คำชี้ขาดที่ ๑๑/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านางสุทธินันท์ในฐานะเจ้าของโรงเรียนเป็นโจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องคดีนี้คำฟ้องไม่เคลือบคลุม คำชี้ขาดของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำชี้ขาดข้อ ๒ ที่ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายหนึ่งเดือนต่อการทำงานหนึ่งปีนั้นไม่มีกฎหมายสนับสนุน คำชี้ขาดส่วนนี้จึงไม่ชอบ พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายวิชัยกับพวกรวม ๒๒ คน เท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายคนละหนึ่งเดือนตามคำชี้ขาดที่ ๑๑/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ข้อ ๑ ของจำเลยทั้งแปดในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยทั้งแปดฎีกาว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๗๕ ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากระทำหรืองดเว้นกระทำตามควรแก่กรณีได้ การที่จำเลยได้ชี้ขาดให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งเดือนต่อการทำงานหนึ่งปีให้แก่ผู้ร้องเรียนด้วยนั้นเป็นการชี้ขาดให้โจทก์กระทำตามควรแก่กรณีอย่างหนึ่งตามความหมายของประกาศนั้นแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ข้อ ๗๕ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๗ มีข้อความว่า "เมื่อได้รับคำร้องกล่าวหาตามข้อ ๗๔ แล้ว ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องกล่าวหา และถ้าปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนข้อ ๗๐ ข้อ ๗๑ ข้อ ๗๒ หรือข้อ ๗๓ ให้สั่งเป็นหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำหรืองดเว้นกระทำตามควรแก่กรณี โดยให้นำข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ และข้อ ๑๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ตามข้อความในประกาศดังกล่าวนี้เห็นว่ากรณีที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในอัตราอย่างไร ได้ระบุไว้ในข้อ ๔๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ เรื่องการคุ้มครองแรงงานแล้ว ที่ข้อ ๗๕ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำหรืองดเว้นกระทำตามควรแก่กรณี หมายถึงการให้กระทำหรืองดเว้นกระทำในเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหากำลังก่อความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนอยู่ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๗๐ ข้อ ๗๑ ข้อ ๗๒ หรือข้อ ๗๓ และในกรณีที่จะสั่งให้จ่ายค่าชดเชย ก็ต้องเป็นค่าชดเชยที่กฎหมายได้ระบุให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดชอบไว้ โดยชัดแจ้งดังข้อ ๔๖ ที่กล่าวตอนต้นแล้วเท่านั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาจ่ายค่าชดเชยอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยตามคำชี้ขาดข้อ ๒ อีกจึงไม่ชอบ (คำชี้ขาดข้อ ๒ ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายหนึ่งเดือนต่อการทำงานหนึ่งปี) แต่คดีนี้มีประเด็นโต้เถียงกันมาเพียงว่าคำสั่งที่ ๑๑/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบแต่เพียงบางส่วนก็ควรพิจารณาชี้ขาดไปเพียงนั้น ไม่ควรจะพิพากษาบังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายวิชัย นาคะวิโร กับพวกตามคำชี้ขาดข้อ ๑ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายอีก เพราะเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนคำชี้ขาดที่ ๑๑/๒๕๑๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ข้อ ๒ ของจำเลยทั้งแปดในฐานะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสียและไม่บังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายวิชัยกับพวกตามคำชี้ขาดข้อ ๑ ของจำเลย

 

(พิทยา มงคล - บัญญัติ สุชีวะ - พิสัณห์ สีตเวทย์ )

 

ศาลแพ่ง - นายอภิณย์ ปุษปาคม

ศาลอุทธรณ์ - นายภักดิ์ บุณยภักดี


อัพเดทล่าสุด