โจทก์ทวงเงินค่าชดเชยแล้วจำเลยไม่ยอมจ่าย...


757 ผู้ชม


โจทก์ทวงเงินค่าชดเชยแล้วจำเลยไม่ยอมจ่าย...




คดีแดงที่  2663/2519

นายจรัส นาควัชระ จ.
ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด ล.

 

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 2(5), 8, 12
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 26 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 47

พนักงานของธนาคารจำเลย สาขานนทบุรีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้จัดการ ทำหนังสือร้องเรียนว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำให้ธนาคารจำเลยเสียหาย กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยสั่งให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารไปสอบสวนแล้ว ได้ความว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของธนาคาร มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ปล่อยเงินให้กู้ยืมไปโดยไม่มีหลักประกันทำให้ธนาคารเสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนรายงานว่า โจทก์ปฏิบัติงานส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืนระเบียบวินัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของธนาคารจำเลย ไม่มาทำงานและเลิกงานตามเวลาที่กำหนด รายงานการมาทำงานและเลิกงานเท็จ เสพสุรายาเมาเป็นอาจิณ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื้อสัตย์สุจริต ควรให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสาขานนทบุรี จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและให้เป็นที่ปรึกษาแทน โจทก์ลาออก ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า นอกจากโจทก์จะฝ่าฝืนระเบียบวินัยของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงแล้ว โจทก์ยังทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยเสียหาย อันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) (2) และ (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2(5) ข้อ 8 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 11 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารจำเลย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขานนทบุรี จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการให้เป็นแค่ที่ปรึกษา โดยให้ค่าพาหนะ ไม่ให้ค่าจ้างเป็นการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นลูกจ้างประจำมา ๑๓ ปี จำเลยเลิกจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) ข้อ ๔๖ (๓) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ข้อ ๒(๕) โจทก์ทวงเงินค่าชดเชยแล้วจำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ ๒(๕) ข้อ ๘ ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๕ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) ข้อ ๔๖(๓) ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๗

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้ พิพากษาว่ามีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๘ ปรับ ๕,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า นายสถาพรกับพวกรวม ๙ คน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารจำเลยสาขานนทบุรีและอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ทำหนังสือร้องเรียกกล่าวหาโจทก์ว่า ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารจำเลยเสียหาย และมีหนังสือร้องเรียนยืนยันในเวลาต่อมาอีก ๒ ฉบับ กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยได้สั่งให้นายกุญชรและนายถนอม เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารไปสอบสวนแล้ว การสอบสวนได้ความว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของธนาคาร มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต โดยโจทก์ให้นางสาวจำเรียน ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไป ถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระ ลูกหนี้รายนี้เป็นคนรับใช้ในบ้านน้องสาวโจทก์ และโจทก์กับน้องสาวนำเงินที่กู้ไปใช้ทั้งสิ้น ทางธนาคารจำเลยให้โจทก์ชำระหนี้รายนี้แทน แต่โจทก์เพิกเฉย และโจทก์ให้ลูกหนี้ชื่อนายบุญช่วย เตียตระกูล กู้เบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้ได้มอบเงินให้กับนายวิเชียรพนักงานซึ่งออกจากงานไปแล้วมาให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้นำเงินเข้าบัญชีของลูกหนี้ดังกล่าว นอกจากนี้มีการปล่อยเงินให้กู้ยืมไปโดยไม่มีหลักประกันทำให้ธนาคารเสียหาย เจ้าหน้าที่ผู้ไปสอบสวนได้รายงานว่า โจทก์ปฏิบัติงานมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตฝ่าฝืนระเบียบวินัยตามคำสั่งที่ ๕/๒๕๑๖ เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ในข้อที่ว่าไม่มาทำงานและเลิกงานตามเวลาที่กำหนด รายงานการมาทำงานและเลิกทำงานเป็นเท็จ เสพสุรายาเมาเป็นอาจิณ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กับมีความเห็นให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสาขานนทบุรี จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว และให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาของธนาคารจำเลยสาขานนทบุรี ต่อมาโจทก์ยื่นใบลาออกจำเลยได้จ่ายเงินสะสมเงินวันลาให้ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมามีเหตุทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านอกจากโจทก์จะฝ่าฝืนระเบียบวินัยตามคำสั่งที่ ๕/๒๕๑๖ ของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงแล้ว โจทก์ยังทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยเสียหาย อันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๑) (๒) และ (๓) จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษายืน.

 

(ภิญโญ ธีรนิติ - สนับ คัมภีรยส - ขจร หะวานนท์ )

 

ศาลอาญา - นายเรืองสวัสดิ์ พรหมสาขา ณ สกล

ศาลอุทธรณ์ - นายสุวรรณพ กองวารี


อัพเดทล่าสุด