ลดอัตราเงินเดือนของพนักงาน


580 ผู้ชม


ลดอัตราเงินเดือนของพนักงาน




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คดีแดงที่  6589/2544

นายนพพันธ์ เลาหบุตร โจทก์
บริษัทนิสสันดีเซล (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 193/34
ป.วิ.พ. มาตรา 226
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ต้องนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมในคดีแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความและคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าคดีไม่มีความจำเป็นจะต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยกับพยานโจทก์ และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยเกือบ 2 เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้างผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ลง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 การลดเงินเดือนโจทก์และไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2540 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยจึงขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี จำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา และผู้จัดการฝ่ายบริหาร ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำเลยได้มีประกาศลดอัตราเงินเดือนของพนักงานระดับผู้บริหาร การลดอัตราเงินเดือนดังกล่าวโจทก์มิได้ยินยอมด้วย จำเลยลดเงินเดือนโจทก์เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๔๒ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างโจทก์อีกเป็นเงิน ๕๒,๕๗๒ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้าง ๕๒,๕๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงกันให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องลดค่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่มีการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์จำเลย จำเลยลดค่าจ้างโจทก์ไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้าง พิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน ๕๒,๕๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๓) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ บัญญัติว่า "ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘

(๑) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(๒) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใดให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์

คำสั่งนั้นได้…" บทบัญญัติดังกล่าวต้องนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมในคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่าในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็น วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีไม่มีความจำเป็นจะต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยกับพยานโจทก์ และให้ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยเกือบ ๒ เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม บทบัญญัติข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อมาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี…(๙) ลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป" ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้าง ผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ เฉพาะของโจทก์ลดลงไปเดือนละ ๒,๐๒๒ บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ รวม ๒๖ เดือน เป็นเงิน ๕๒,๕๗๒ บาท การลดเงินเดือนโจทก์ดังกล่าวและไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์เป็นการที่จำเลยนายจ้างกระทำโดยไม่มีอำนาจเป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้าง โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๓ ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ๒๕๔๐ รวมเป็นเงิน ๔,๐๔๔ บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยจึงขาดอายุความ ๒ ปี ตามบทบัญญัติข้างต้น ฟ้องโจทก์หาได้ขาดอายุความไปเสียทั้งหมดดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของเงิน ค่าจ้างที่จะต้องชำระแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง…ไม่จ่ายค่าจ้าง…ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๗๐…ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี" เมื่อจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามบทบัญญัติข้างต้น หาใช่เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๔๘,๕๒๘ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลแรงงานกลาง

 

(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - สกนธ์ กฤติยาวงศ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด