ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยวินัยและความประพฤติอย่างร้ายแรง


687 ผู้ชม


ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยวินัยและความประพฤติอย่างร้ายแรง




คดีแดงที่  2942/2545

บริษัท ไพฑูรย์โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท จำกัด โจทก์
นายนิยม โภควนิช จำเลย
นายสุทัศน์ บุญมี จำเลยร่วม

 

ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง, 193/8
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายคุ้มครองการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรมและมีบทบัญญัติในการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะ แต่ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป
การที่โจทก์ไม่พอในคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน และประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อให้ ชี้ขาดนั้นโจทก์จะต้องนำต้นเงินค่าชดเชยและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามจำนวนที่คำนวณได้ถึงวันฟ้องไปวางต่อศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสาม เมื่อโจทก์นำคดีมาสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในคดีย่อมต้องหมายความรวมทั้งคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยในค่าชดเชยแก่จำเลยร่วม ทั้งการวินิจฉัยในส่วนเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวก็มีผลกระทบโดยตรงถึงดอกเบี้ยของค่าชดเชยตามคำสั่งของจำเลยด้วย โจทก์จึงไม่อาจที่จะอ้างว่าโจทก์คงติดใจโต้แย้งคำสั่งของจำเลยเฉพาะเรื่องเงินค่าชดเชยเท่านั้น ไม่ติดใจโต้แย้งในเรื่องดอกเบี้ยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เพียงแต่นำเงินค่าชดเชยจำนวน 97,800 บาท มาวางต่อศาลแรงงานกลางโดยมิได้นำดอกเบี้ยในค่าชดเชยตามจำนวนที่คำนวณได้ถึงวันฟ้องมาวางต่อศาลด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์วางเงินไม่ครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 125 วรรคสาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจประเภทโรงแรม จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๓ โจทก์เลิกจ้างนายสุทัศน์ บุญมี ลูกจ้างโจทก์เนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยวินัยและความประพฤติอย่างร้ายแรง ต่อมานายสุทัศน์ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ วินิจฉัยว่า การกระทำของนายสุทัศน์ถือได้ว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นายสุทัศน์มีพฤติกรรมส่อเจตนาทำให้ขาดความน่าไว้วางใจ แต่มิใช่กรณีร้ายแรง ดังนั้น โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสุทัศน์ ในกรณีไม่จ่ายค่าชดเชยต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี จึงมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๙๗,๘๐๐ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในระหว่างเวลาผิดนัด โดยนำจ่ายแก่นายสุทัศน์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่ทราบคำสั่งนั้น โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเนื่องจากคำสั่งและคำวินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์สามารถเลิกจ้างนายสุทัศน์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และเงิน ๓,๘๐๐ บาทเป็นเงินพิเศษได้รับจากกรณีที่มีลูกค้ามาใช้บริการ จึงมิใช่ค่าจ้าง กับจำเลยรับข้อร้องเรียนของนายสุทัศน์เป็นการไม่สุจริต เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์มิได้นำคดีนี้สู่ศาลภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งจำเลยจึงเป็นที่สุด นอกจากนั้นโจทก์มิได้นำเงินค่าดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี คิดเป็นเงิน ๑๔,๖๗๐ บาท ตามคำสั่งมาวางด้วย การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณา นายสุทัศน์ บุญมี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต

ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลย และจำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด ๓๐ วันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และโจทก์มิได้นำดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดซึ่งถึงกำหนดจ่ายมาวางต่อศาล ถือได้ว่าโจทก์วางเงินไม่ครบถ้วนตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จะเป็นกฎหมายที่มีความมุ่งหมายคุ้มครองการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรมและมีบทบัญญัติในการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะก็ตาม แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ ลักษณะ ๕ เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดย มาตรา ๑๙๓/๓ วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นต้นไปตามนัยบทบัญญัติมาตรา ๑๙๓/๓ วรรคสอง ดังกล่าว และจะครบกำหนด ๓๐วันในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลภายในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ อันเป็นวันเปิดทำการราชการในวันแรกได้ตามนัยมาตรา ๑๙๓/๘ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ จึงต้องถือว่าโจทก์นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า การวางเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลนั้น โจทก์จะต้องนำดอกเบี้ยจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานมาวางต่อศาลด้วยหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของจำเลยและจำเลยร่วมหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งที่ ๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ ให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๙๗,๘๐๐ บาท และดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ให้แก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกจ้างภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของจำเลย ฉะนั้น ในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยและประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อให้ชี้ขาดนั้นโจทก์จะต้องนำต้นเงินค่าชดเชยและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามจำนวนที่คำนวณได้ถึงวันฟ้องไปวางต่อศาลแรงงานกลางตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.

๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคสาม บัญญัติไว้ การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในคดีนี้ย่อมต้องหมายความรวมทั้งคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยในค่าชดเชยแก่จำเลยร่วม นอกจากนี้การวินิจฉัยในส่วนเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวก็มีผลกระทบโดยตรงถึงดอกเบี้ยของค่าชดเชยตามคำสั่งของจำเลยด้วย โจทก์จึงไม่อาจที่จะอ้างว่าโจทก์คงติดใจโต้แย้งคำสั่งของจำเลยเฉพาะเรื่องเงินค่าชดเชยเท่านั้น ไม่ติดใจโต้แย้งในเรื่องดอกเบี้ยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เพียงแต่นำเงินค่าชดเชยจำนวน ๙๗,๘๐๐ บาท มาวางต่อศาลแรงงานกลางโดยมิได้นำดอกเบี้ยในค่าชดเชยตามจำนวนที่คำนวณได้ถึงวันฟ้องมาวางต่อศาลด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์วางเงินไม่ครบถ้วนตามคำสั่งของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๕ วรรคสาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย และแม้จำเลยและจำเลยร่วมจะมิได้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดในเบื้องต้นก็ตาม แต่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องที่จำเลยและจำเลยร่วมได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นโดยตรงอยู่แล้ว ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดในเบื้องต้นได้และไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของจำเลยและจำเลยร่วมแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษายืน

 

(ปัญญา สุทธิบดี - วีรพจน์ เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต ธรรมฤาชุ

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด