ค่าตอบแทนพิเศษไม่เป็นเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินบำเหน็จ เงินรางวัล ....


555 ผู้ชม


ค่าตอบแทนพิเศษไม่เป็นเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินบำเหน็จ เงินรางวัล ....




จำเลยตกลงจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาเงินทุน ค่าจ้างเดือนละ 38,000 บาท และจำเลยตกลงให้โจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยพร้อมกับโจทก์ ร่วมกันระดมเงินฝากให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้ไม่ต่ำกว่าปีละ4,000 ล้านบาท จำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้โจทก์กับพวกรวม 4 คน ในอัตราร้อยละ 0.06 ของยอดเงินฝากคงเหลือเฉลี่ยแต่ละวัน โดยจ่ายปีละหนึ่งครั้ง ในกรณีที่โจทก์กับพวกไม่สามารถระดมเงินฝากได้ถึง 2,500 ล้านบาท ในระยะหนึ่งปีจำเลยสามารถใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงสัญญากันใหม่ได้ ซึ่งตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวโจทก์จะได้ค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะระดมเงินฝากได้หรือไม่ และจำนวนมากน้อยเพียงใด จึงไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือไม่ และจำนวนเท่าใด ทั้งในกรณีที่โจทก์กับพวกร่วมกันระดมเงินฝากได้มากเกิน4,000 ล้านบาท ในระยะหนึ่งปี ตามสัญญาจ้างก็มิได้กำหนดให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ เพื่อเป็นการจูงใจให้โจทก์ขยันระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น ทั้งโจทก์จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษนี้ปีละครั้งต่างหากจากเงินเดือน และเงินจำนวนนี้พนักงานอื่นไม่มีสิทธิได้รับ ค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินรางวัล เงินบำเหน็จเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ และไม่เป็นเงินเดือน เพราะเป็นจำนวนไม่แน่นอน โจทก์และจำเลยได้ตกลงกำหนดจำนวนไว้เป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว แต่ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยตกลงจ่ายให้โจทก์สำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจรับฝากเงิน โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลย ซึ่งเป็นการตกลงที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 20 (9) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแย่งกันระดมเงินฝากโดยให้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินและประชาชนผู้ฝากเงิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงให้ค่าตอบแทนพิเศษตามสัญญาจ้างที่พิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และไม่มีผลบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามที่ตกลงในสัญญาจ้างให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายให้โจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างนั้น เมื่อค่าตอบแทนพิเศษไม่เป็นเงินส่วนที่เป็นเงินเดือน เงินบำเหน็จ เงินรางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติแล้วแม้จะฟังว่าค่าตอบแทนพิเศษเป็นเงินค่าจ้างดังโจทก์อุทธรณ์ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาฎีกาที่ 4413/4413


อัพเดทล่าสุด