ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย (ฏีกายาว : การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม)
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คดีแดงที่ 1887/2531 | บริษัทนครหลวงอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด โจทก์ |
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41, 123
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมขอให้จ่ายค่าเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าการที่โจทก์เลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีก ดังนี้ การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างของโจทก์แล้ว ไม่สมควรให้โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก ศาลย่อมพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสีย
…………………..……………………………………………………………..
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ ด้วยเหตุเกษียณอายุจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ กล่าวหาว่าการที่โจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้จ่ายค่าเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมเรียกค่าเสียหาย แต่คดีตกลงกันได้ โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล โจทก์ยอมชำระเงิน ๕,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีก หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะเมื่อโจทก์จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ ๑ ที่ได้ร้องไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมระงับไปด้วย ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ และให้จำเลยที่ ๑ถอนคำร้องที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เคยฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางและได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมต่อหน้าศาลจริง แต่จำเลยที่ ๑ยืนยันแล้วว่าจะไม่ถอนคำร้องที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งโจทก์ทราบและตกลงด้วยแล้ว
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ให้การว่า คดีก่อนที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องเรียกค่าเสียหายและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไม่ทำให้สิทธิของจำเลยที่ ๑ ที่จะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมระงับสิ้นไปเพราะเป็นคนละส่วนกัน เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายคนละฉบับ ทั้งตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ ๑ สละสิทธิไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ จึงไม่จำต้องยกประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม๒๕๒๙ โดยโจทก์อ้างว่าครบเกษียณอายุและจำเลยที่ ๑ ได้รับค่าชดเชยไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ขอให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน๕๓,๒๘๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑โดยมิได้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๓,๒๘๐ บาท และเงินโบนัส ๖,๖๖๐ บาทวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๐ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน๕,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีก ศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่๑๔ มีคำสั่งที่ ๒๐/๒๕๓๐ ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑เป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ ๒๐/๒๕๓๐ นั้นเสีย เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ถึงที่ ๑๔ ว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ ขอให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๓,๒๘๐ บาทโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ และต่อมาจำเลยที่๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ โดยไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๓,๒๘๐ บาทและเงินโบนัส ๖,๖๖๐ บาทโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น มีมูลฐานมาจากการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑ ในคราวเดียวกันนั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางนั้น โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีกศาลพิพากษาตามยอมดังปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๘๓๗/๒๕๓๐ ของศาลแรงงานกลาง ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างของโจทก์ในครั้งนี้แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรให้โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก เพราะจะเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน โดยอาศัยเหตุจากการเลิกจ้างของโจทก์ในคราวเดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม อันมิใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๒๐/๒๕๓๐ ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ นั้นเสีย.
(จำนง นิยมวิภาต - จุนท์ จันทรวงศ์ - ศรีภูมิ สุวรรณโรจน์ )
ศาลแรงงานกลาง - นายศุภชัย ภู่งาม
ศาลอุทธรณ์ -