รวมคำพิพากษาฎีกา "พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ม. 5"


1,373 ผู้ชม


รวมคำพิพากษาฎีกา "พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ม. 5"




1. คำพิพากษาฎีกาที่ 2244/2548
        เงินโบนัสไม่ใช่ค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (8) และ (9) การเรียกร้องเงินโบนัสจึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความ 2 ปี ของบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเงินโบนัสตามสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

2. คำพิพากษาฎีกาที่ 252/2547
        จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/25 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าชดเชยต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแต่ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

3. คำพิพากษาฎีกาที่ 5394/2547
        เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละคนซึ่งเป็นพนักงานขับรถและพนักงานยกของที่ไปกับรถของจำเลยเมื่อทำตามหน้าที่ของตน โดยจำเลยกำหนดอัตราไว้แน่นอนว่าเที่ยวหนึ่งจะจ่ายให้เท่าใด สามารถคำนวณได้ตามจำนวนเที่ยวที่ทำได้ในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงาน มีลักษณะชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจ่ายให้โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานมิใช่จงใจจ่ายเพื่อจูงใจให้โจทก์ขยันทำงาน เงินค่าคอมมิชชั่นหรือค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้าง ตามความหมายของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

4. คำพิพากษาฎีกาที่ 9096/2546
        พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ฯลฯ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน วัตถุประสงค์ของการที่จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติ แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง
        ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 10 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัท ฯ ต้องการแก่บริษัท ฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงานต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัท ฯ ทราบโดยเร็วที่สุดนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับแก่บุคคลที่เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคลภายนอกด้วย ขณะที่โจทก์กรอกข้อความลงในใบสมัครงานโจทก์ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย และเป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่ารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นความสัตย์จริงทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้วปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัท ฯ มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้างโดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น อาจเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะราย แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น แม้จะได้ความว่าโจทก์กรอกข้อความในใบสมัครงานเป็นเท็จ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ทั้งไม่สูญเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
        นับตั้งแต่ที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักร โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของจำเลย แม้โจทก์จะเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อน แต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์และคดีระงับสิ้นลงแล้วก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของจำเลยประมาณ 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรให้แก่จำเลย จึงมิใช่เรื่องร้ายแรง การที่จำเลยอาศัยเหตุดังกล่าวเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

5. คำพิพากษาฎีกาที่ 1766/2544
        ศาลแรงงานพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย อีกทั้งคำแถลงรับของคู่ความแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้ จึงสั่งงดสืบพยานและใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แน่ชัดเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
        การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง มีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันมีผลตลอดไปเป็นการถาวร ประการที่สอง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้าง และประการที่สาม สาเหตุเนื่องมาจากสัญญาจ้างสิ้นสุดหรือเหตุอื่นใด
        นายจ้างหยุดกิจการเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง แม้นายจ้างจะโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานกับบุคคลภายนอกก็ต้องให้ลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างยินยอม พร้อมใจด้วยจึงต้องถือว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอันมีผลตลอดไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างหยุดกิจการอันเป็นเหตุอื่นใด จึงเป็นกรณีเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นายจ้างจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 582 ด้วย
        โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการใช้หนี้เงิน ของบริษัทนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

 

6. คำพิพากษาฎีกาที่ 2513/2544
        อาหารวันละ 3 มื้อ ที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานปกติรับประทาน โดยลูกจ้างซึ่งไม่ได้ไปทำงานหรือเป็นวันหยุดจะไม่ได้รับประทานด้วยนั้น อาหารดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการช่วยการครองชีพของลูกจ้างซึ่งมาทำงานให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ต่อมาเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลบังคับใช้ทำให้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวถูกยกเลิก ความหมายคำว่า "ค่าจ้าง" จึงต้องใช้ตามมาตรา 5 ซึ่งหมายถึง "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ …" ดังนั้น อาหารวันละ 3 มื้อ ที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์จึงมิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

 

7. คำพิพากษาฎีกาที่ 5445/2544
         ++ คดีแดงที่ 5445-5455/2544
         ++ ข้อมูลไม่เป็นทางการ ++
         ++ ข้อมูล word
         ++ คำพิพากษาสั่งออก - แจ้งการอ่านแล้ว -รอย่อ
         ++
         จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โดยพิจารณาว่าโจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้น ถึงแม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้ชัดเจนโดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนแน่นอนก็ตาม แต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงาน ทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานที่ทำขึ้นก็ระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงาน เงินโบนัสที่จำเลยจ่ายเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงไม่ใช่ค่าจ้าง
         ศาลแรงงานไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง
         ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด ทั้งคู่มือการบริหารงานบุคคลก็ระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ส่วนวันปิดบัญชีประจำงวดหมายถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปี มีความหมายว่า ให้มีการจ่ายโบนัสหลังวันสิ้นเดือนดังกล่าว ซึ่งโดยสภาพกำหนดไว้กว้าง ๆ ว่า ต้องจ่ายก่อนการจ่ายโบนัสงวดถัดไปเท่านั้น การพิจารณาว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 หรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าวโดยพิจารณาจากสถานภาพการเป็นพนักงานและผลการปฏิบัติงานถึงวันสิ้นงวดบัญชีอันได้แก่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 เมื่อโจทก์ทุกคนมีสถานภาพการเป็นพนักงานอยู่ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน2541 และผลการปฏิบัติงานผ่านการประเมินของผู้บังคับบัญชา สิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 ของโจทก์ทุกคนย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541
         ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่จะมีผลผูกพันลูกจ้างนั้นต้องเป็นข้อตกลงตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 19 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำโดยนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยมีลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิกหรือร่วมกันในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมดให้ถือว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันนั้นทุกคน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะผูกพันเฉพาะลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กับนายจ้างในขณะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น
         ขณะสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงใหม่ โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์

 

8. คำพิพากษาฎีกาที่ 7402/2544
        นายจ้างจ่ายค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ให้แก่ลูกจ้างในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เป็นเงินเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์หรือไม่ หรือได้ใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมากน้อย เท่าใด ทั้งลูกจ้างไม่ต้องแสดงใบเสร็จค่าน้ำมันรถหรือใบเสร็จค่าโทรศัพท์เป็นหลักฐานในการรับเงินดังกล่าว เงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์ดังกล่าวจึงเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้าง ตามสัญญาจ้าง ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
        บทบัญญัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่าย บอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้" ไม่รวมถึงข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
        การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวอาจไม่ใช่เหตุตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ก็ได้ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยจะยกเหตุว่าจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มีความบกพร่องหรือมีความผิดตามคำให้การของจำเลยมาเป็นข้อต่อสู้ในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

9. คำพิพากษาฎีกาที่ 8382/2544
        พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์และจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงถึงที่สุด จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้แม้จะเกินระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเพราะ มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่อยู่ในกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องภายใน 30 วัน
        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินประกัน ค่าชดเชย และค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตาม คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ถึงที่สุด ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาท้ายคำฟ้องด้วยแล้ว สภาพแห่งข้อหาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทั้งสี่ประเภทนั้นตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุดแล้วตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคสอง เพราะจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงต้อง จ่ายเงินทั้งสี่ประเภทให้โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสี่ประเภทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่จำต้องบรรยายถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละเท่าใด ตั้งแต่ช่วงเวลาใดถึงช่วงเวลาใดมาในฟ้อง

 

10. คำพิพากษาฎีกาที่ 8690/2544
        นายจ้างมีข้อตกลงกับลูกจ้างว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้ แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ก็จะให้ค่าเช่ารถยนต์ เดือนละ 22,000 บาท ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้หารถประจำตำแหน่งให้ลูกจ้างเป็นหลัก มีข้อยกเว้นว่าหากยังหา รถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้ลูกจ้าง หากต่อมานายจ้างสามารถหารถประจำตำแหน่งให้ลูกจ้างได้ตามข้อตกลงเมื่อใด นายจ้างก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวให้ลูกจ้างอีกต่อไป ค่าเช่ารถยนต์รายเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง ถือว่าเป็นสวัสดิการ มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน แม้จะจ่ายเงินจำนวน แน่นอนเท่า ๆ กัน ทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5


11. คำพิพากษาฎีกาที่ 5610/2542
         บริษัท ด.เป็นผู้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ทำหน้าที่หาลูกค้ามาพักที่โรงแรม ท. การสมัครงานและการทำงานของโจทก์มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาในการทำงานของโจทก์ ทั้งงานที่โจทก์รับจ้างบริษัท ด.ทำในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซึ่งมีหน้าที่หาลูกค้ามาพักที่โรงแรม ท.ก็ไม่ใช่งานของจำเลย เพราะจำเลยประกอบกิจการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ประกอบกับโจทก์เคยฟ้องบริษัท ด.เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวในตำแหน่งเดียวกันกับในคดีนี้ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชยแก่โจทก์คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ แม้จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนและออกใบรับเงินในนามจำเลยให้แก่โจทก์ตามคำขอของบริษัท ด.ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นนายจ้างของโจทก์ไปได้

12. คำพิพากษาฎีกาที่ 6966/2542
        ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดว่า ถ้าผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติน้อยกว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานกรณีการเลิกจ้างตามปกติ บริษัทจะจ่ายเงินส่วนที่ขาดอยู่นั้นให้ และจำนวนเงินทั้งหมดที่ลูกจ้างได้รับจากโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่าย ค่าชดเชยการเลิกจ้างนั้นด้วย ดังนั้น เงินผลประโยชน์ตามโครงการดังกล่าวที่จำเลยจ่ายไปจึงมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ตามโครงการดังกล่าว เงินผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจึงมี ค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว และเงินผลประโยชน์ดังกล่าวก็มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก

 

พัฒนาโดยส่วนนิติการ ศาลฎีกา
สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม


อัพเดทล่าสุด