พิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน : พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒


785 ผู้ชม


พิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน : พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒




มาตรา ๒๖

                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๒๖–๕๓๒๗/๒๕๔๒  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา ๒๖ บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ มาอนุโลมใช้ได้  มาตรา ๒๖ แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า  ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด  ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม  แสดงว่าการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ย่อมกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา ๓๙
คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๓๔๕/๒๕๔๒  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ. ๒๕๒๒  ได้บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวง  รวมทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณา  และให้มีอำนาจระบุให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานเข้าสืบก่อนหลังได้ด้วย  หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้ว  ต้องถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย  คู่ความไม่มีสิทธิคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือระบุให้คู่ความฝ่ายใดสืบพยานก่อนหลังไม่ถูกต้องเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา ๑๘๓ วรรคท้าย
มาตรา ๔๕

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๘๑๔–๘๘๑๗/๒๕๔๒  ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เอง  หรือกำหนดให้คู่ความนำพยานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้  การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานโดยที่โจทก์ไม่ได้ระบุเอกสารดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานจึงชอบด้วยกฎหมาย

                คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗/๒๕๔๓  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖  ได้กำหนดวิธีซักถามพยานและวิธีบันทึกคำพยานในการพิจารณาคดีแรงงานไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา ๘๙  มาใช้บังคับได้  ดังนั้น  การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งนำมาสืบในภายหลังโดยโจทก์มิได้ซักถามพยานจำเลยเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในภายหลังเพื่อให้พยานจำเลยได้อธิบายถึงข้อความเหล่านั้นก่อน  จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๒๘/๒๕๔๓  การที่ลูกจ้างร่างคำสั่งไม่ให้พนักงานทดลองงานผ่านการทดลองงานให้รองประธานกรรมการของบริษัทลงนาม  อันเป็นผลให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากการเป็นพนักงานของนายจ้างโดยไม่ได้ปรึกษากรรมการผู้จัดการของนายจ้าง  จะเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของกรรมการผู้จัดการ  แต่ลูกจ้างได้ปฏิบัติตามคำสั่งของรองประธานกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของลูกจ้างในสายงาน  จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีร้ายแรง  และการฝ่าฝืนคำสั่งเช่นนี้นายจ้างอาจลงโทษได้  แต่ยังไม่ถึงขนาดที่นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้าง  การที่นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้าง  จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้าง  เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๔๙๒/๒๕๔๒  การเลิกจ้างในกรณีเช่นใดจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ. ๒๕๒๒  มาตรา ๔๙ นั้น  ศาลแรงงานสามารถวินิจฉัยได้โดยคำนึงถึงเหตุอันควรในการเลิกจ้าง  ประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง  ทั้งข้อบังคับของนายจ้างก็กำหนดให้การลงโทษไล่ออกกระทำได้ในกรณีที่พนักงานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  เมื่อการกระทำของลูกจ้างไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  นายจ้างลงโทษไล่ลูกจ้างออกจากงานจึงไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของนายจ้างดังกล่าว  จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

มาตรา ๕๒

                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๗๔–๗๑๘๕/๒๕๔๒  ลูกจ้างได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ  ๑๒,๑๕๐  บาท  แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวน  ๗๒,๙๐๐  บาท  ซึ่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง  ทั้งไม่ปรากฏเหตุที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ  จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  พ.ศ.  ๒๕๒๒  มาตรา ๕๒  ดังนั้น เมื่อลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพียงจำนวน  ๓๖,๔๕๐  บาท  แม้นายจ้างอุทธรณ์ยอมรับว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน ๔๐,๕๐๐  บาทก็ตาม  แต่เมื่อลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชยตามกฎหมายเพียงจำนวนดังกล่าว  ศาลก็ต้องพิพากษาให้ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิเท่านั้น

               

อัพเดทล่าสุด