คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน : พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
| |
มาตรา ๕คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๑๐/๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงาน แม้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนและออกใบรับเงินในนามจำเลยให้แก่โจทก์ตามคำขอของบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นนายจ้างของโจทก์ไปด้วยได้ มาตรา ๑๗คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๒๕–๔๗๐๑/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง นายจ้างมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้าง แต่ลูกจ้างทราบการบอกกล่าวในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ดังนี้ต้องถือว่านายจ้างบอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ลูกจ้างได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างคือวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๔๙–๘๓๖๕/๒๕๔๒ ก็วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน ) คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๔๗/๒๕๔๒ บทบัญญัติมาตรา ๑๗ วรรคสอง ได้กำหนดหลักการเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างขึ้นใหม่เป็นพิเศษยิ่งกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ โดยกำหนดว่าในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้างอาจทำเป็นหนังสือหรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือได้ถูกจำกัดโดยมาตรา ๑๗ วรรคท้ายว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ กล่าวคือ ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยวาจาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า ถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มาตรา ๑๗ วรรคสาม จึงหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ ( คำพิพากษากาที่ ๙๕/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน ) มาตรา ๕๖คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๔๖/๒๕๔๒ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดให้นับเป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๙๓/๖ วรรคท้าย ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน เมื่อลูกจ้างได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๗,๕๐๐ บาท หารด้วย ๓๐ จึงเป็นค่าจ้างวันละ ๑,๒๕๐ บาท มาตรา ๑๑๖คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๓๓๐/๒๕๔๒ เมื่อลูกจ้างยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริง นายจ้างก็มีอำนาจลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานได้ ดังนั้น การพักงานดังกล่าวจึงเป็นการพักงานเนื่องจากการลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานระหว่างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๖ และ ๑๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินหรือค่าจ้างตามบทมาตราดังกล่าว มาตรา ๑๑๘คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๘๐/๒๕๔๒ สัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสาม จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ประกอบกับกฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยไม่ได้ เมื่อสัญญากำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้ โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า ๒ เดือน สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญา จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๖๗–๖๗๖๙/๒๕๔๒ สัญญาจ้างที่ระบุว่า “สัญญาฉบับนี้มีระยะเวลา ๒๔ เดือน จากวันเริ่มจ้างจริง แต่อาจจะมีการทำข้อตกลงกันใหม่ก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดโดยเป็นที่ยอมรับทั้ง ๒ ฝ่าย” เป็นข้อตกลงการจ้างที่มีเงื่อนไขที่นายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงกันต่อไปได้ ถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๖๖–๖๙๗๑/๒๕๔๒ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดกรณีเลิกจ้างเมื่อเกษียณอายุว่า บริษัทจะเลิกจ้างเมื่อลูกจ้างครบเกษียณอายุ ๖๐ ปี ในกรณีการเลิกจ้างตามปกติถ้าผลประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับตามโครงการเกษียณอายุน้อยกว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานบริษัทจะจ่ายเงินส่วนที่ขาดอยู่นั้นให้ จำนวนเงินที่ลูกจ้างได้รับจากโครงการเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายค่าชดเชยด้วย ดังนั้นเงินผลประโยชน์ตามโครงการเกษียณอายุก่อนเวลาปกติที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างไปตามระเบียบและข้อบังคับของโครงการเกษียณอายุจึงมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย มาตรา ๑๑๙(๑)คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๐๕/๒๕๔๒ เมื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การที่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างวันละ ๑๙๐ บาท ละทิ้งงานไปเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง แม้ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่ลูกจ้างละทิ้งงานแต่ก็เกิดโทษแก่นายจ้างน้อย ยังไม่พอถือว่าลูกจ้างมีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ มาตรา ๑๑๙(๔)คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๗๑/๒๕๔๒ เมื่อลูกจ้างกระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการทำงาน นายจ้างย่อมมีอำนาจออกหนังสือตักเตือนและมีอำนาจนำหนังสือตักเตือนไปประกาศให้ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัยและลูกจ้างอื่นทราบได้ การที่ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัยไปฉีกทำลายประกาศหนังสือตักเตือนของนายจ้างโดยพลการ ทำให้ทรัพย์สินคือหนังสือตักเตือนของนายจ้างต้องสูญหายและขาดประโยชน์และอาจทำให้ลูกจ้างอื่นเอาอย่าง ทำให้นายจ้างไม่สามารถปกครองบังคับบัญชาลูกจ้างได้ การกระทำของลูกจ้างดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๓๑/๒๕๔๒ การที่ลูกจ้างให้คำปรึกษากับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ซึ่งเป็นคู่แข่งกับหนังสือพิมพ์ของนายจ้าง กรณีถือได้ว่าลูกจ้างได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากหน้าที่การงานที่ลูกจ้างทำกับนายจ้าง โดยทำงานให้แก่ธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้างทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรง คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๐๙/๒๕๔๒ การที่ลูกจ้างมีชู้กับพนักงานช่างประจำโรงแรมของนายจ้าง แม้จะไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรมหรือในเวลาทำงาน ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ครอบครัวผู้อื่นแตกแยก และเป็นที่รู้กันทั่วในหมู่พนักงานโรงแรมของนายจ้าง การกระทำของลูกจ้างและชายชู้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปกครองบังคับบัญชาพนักงานโรงแรมของนายจ้าง รวมทั้งชื่อเสียงของโรงแรมนายจ้างด้วย เนื่องจากลูกจ้างมีตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นถึงผู้จัดการแผนกต้อนรับแต่กลับประพฤติชั่วเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่น ๆ การกระทำของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง มาตรา ๑๒๕คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๑๐/๒๕๔๒ การวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจะต้องให้สอดคล้องกับความไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวด้วย โดยนายจ้างไม่พอใจหรือโต้แย้งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเท่าใดก็วางเงินเพียงเท่าที่ตนโต้แย้ง ไม่จำต้องวางเต็มจำนวนตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเสมอไป ( คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๑๑/๒๕๔๒ ก็วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน ) คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๕๒/๒๕๔๒ กรณีที่ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา ๑๒๔ แต่นายจ้างไม่นำคดีมาสู่ศาลภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามมาตรา ๑๒๕ นายจ้างจะดำเนินการในศาลแรงงานอีกไม่ได้ซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้คดีด้วย ทั้งนี้โดยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อลูกจ้างนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างจึงไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุที่นายจ้างมิได้เลิกจ้างอันทำให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งอันถึงที่สุดแล้วได้ |