คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน : พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘


561 ผู้ชม


คำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงาน : พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘




มาตรา ๑๐

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๒/๒๕๔๓  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างเป็นเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานที่ทำเป็นหนังสือจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  มาตรา ๑๐ และ ๑๑  มีผลผูกพันให้นายจ้างและลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม  เมื่อข้อตกลงนี้มีผลผูกพันนายจ้างและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันย่อมมีสิทธิยกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อต่อสู้นายจ้างให้ปฏิบัติตามได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๖๙๔

มาตรา ๒๘

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๕/๒๕๔๓  สัญญาจ้างกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ  และไม่มีข้อตกลงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้  อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยจึงต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนของทางราชการในวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ข้อ  ๒๗  วรรคสอง  ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ข้อ  ๒๗ วรรคสอง  ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่  ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐  กำหนดให้ ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๓๘.๔๐  บาท  สัญญาจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕  การที่นายจ้างประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่ในอัตรา ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาท  จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง  เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว  ประกาศของนายจ้างที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินขึ้นใหม่  จึงไม่มีผลใช้บังคับ  นายจ้างไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ทำไว้กับลูกจ้าง

มาตรา ๕๒

                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๘๘๐–๘๘๘๖/๒๕๔๒  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง  มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย  ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว  อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว  อันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราวโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดทำงานชั่วคราวนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่  ซึ่งมีเจตนารมณ์แตกต่างชัดเจนจากบทบัญญัติมาตรา  ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างโดยเฉพาะให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งจากนายจ้างด้วยการเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง  หรือกระทำการใดที่อาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้  อันเป็นสถานการณ์ปกติของนายจ้างไม่ใช่กรณีที่นายจ้างประสบวิกฤตการณ์จนจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราวโดยสาเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัยและขอจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างเพียงร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ  จึงเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง  ซึ่งไม่ต้องด้วยมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่จะต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน

มาตรา ๑๒๓

                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๔๒–๗๐๔๖/๒๕๔๒  นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยลูกจ้างดังกล่าวมิได้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๓ ( ๑ ) ถึง ( ๕ )  ทั้งขณะเลิกจ้างผลประกอบการของนายจ้างก็ยังมีกำไร  ข้อที่อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของนายจ้างจนต้องขาดทุนและต้องปิดกิจการในอนาคตก็เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น  จะกระทบกระเทือนนายจ้างถึงขนาดต้องดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ยังไม่แน่นอน  ขณะนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงยังไม่มีเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย  การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

อัพเดทล่าสุด