ดอกเบี้ยผิดนัด ร้อยละ 7.5 นับแต่วันเลิกจ้าง !!


715 ผู้ชม


ดอกเบี้ยผิดนัด ร้อยละ 7.5 นับแต่วันเลิกจ้าง !!




นายเกียรติศักดิ์  ทองปัญญา        โจทก์

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ    จำเลย

คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อและต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และ 141 (2) ซึ่งอนุโลมมาใช้กับคดีแรงาด้วย ศาลแรงานกลางยกคำของโจทก์เรื่องดอกเบี้ยโดยมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง

- - - - - - - - - - - - - - - - -

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งนิติกร 3 แผนกบังคับคดีและติดตามหนี้สิน สำนักงานกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างและให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงาได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้าง ( 13 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นมา จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 45,840 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมโดยขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินตามฟ้องนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว เห็นว่า คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อและต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และ 141 (4) ซึ่งอนุโลมมาใช้กับคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางยกคำขอของโจทก์เรื่องดอกเบี้ยโดยมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวน กล่าวคือ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทันที เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อไม่จ่ายก็ต้องตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง

พิพากษาแก้ไขเป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (13 พฤศจิกายน 2540 ) เป็นต้นไปจกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

พูนศักดิ์  จงกลนี

เสมอ      อินทรศักดิ์

อร่าม      หุตางกูร

อัพเดทล่าสุด