การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย


689 ผู้ชม


การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๙/๒๕๔๕

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๖๗ , ๑๑๙)

 

โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท อ. นายจ้าง มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโส แต่ทำการตั้งบริษัทซึ่งมี วัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้างและมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ซึ่งบริษัทโจทก์ดังกล่าวย่อมจะต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกับลูกค้าของนายจ้าง ลูกค้าอาจจะเลือกใช้บริการการให้คำปรึกษาของบริษัทโจทก์ได้ ย่อมเป็นการกระทบถึงรายได้ของนายจ้างและทำให้นายจ้างเสียหาย แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทโจทก์ได้แย่งลูกค้านายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการของบริษัทโจทก์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าการที่โจทก์ตั้งบริษัทในลักษณะดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๑๑๙(๒) และมาตรา ๖๗ แก่โจทก์ แม้ พ. ผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัท
นายจ้างและ จ. ผู้จัดการฝ่ายขายและบริการธุรกิจของบริษัทนายจ้างจะได้ร่วมกันตั้งบริษัทอื่นซึ่งมีกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างเช่นเดียวกับโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างจะไปว่ากล่าวเอาโทษแก่บุคคลทั้งสองเอง หามีผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายไม่ ฉะนั้น การที่จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้บริษัท อ. เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์นั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว


อัพเดทล่าสุด