หนังสือเตือน


554 ผู้ชม


หนังสือเตือน




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๒๒๒/๒๕๔๕ นายวิรัตน์ วัฒนะแสง

แพ่ง บอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน (มาตรา ๕๘๓)

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๑๑๙(๔))

 

 หนังสือเตือนนอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วย แม้หนังสือเตือนของจำเลยจะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้ แต่ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้โจทก์กระทำเช่นนั้นซ้ำอีก คงมีแต่คำว่า “ใบเตือนครั้งที่ ๑” และ “ ใบเตือนครั้งที่ ๒” อยู่ด้านบนของเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ ให้โจทก์ทราบเท่านั้น ไม่เป็นหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๑๑๙(๔)

 จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกสรพลาซ่า แต่โจทก์เดินทางไป ไม่ถึงเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ ๔๓ นาที ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว โดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง
ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว

อัพเดทล่าสุด