สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่ค่าจ้าง ??
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๐๒๘/๒๕๔๕
แพ่ง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (มาตรา ๕๘๒)
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๕ ,๙ )
ภาษีเงินได้ที่บริษัทจำเลยนำส่งกรมสรรพากรและเงินประกันสังคมที่นำส่งสำนักงานประกันสังคม จำเลยออกให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ ซึ่งเงินสองจำนวนดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้และลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องชำระโดยจำเลยจะหักจำนวนเงินดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อจำเลยมิได้หักเงินดังกล่าวจากค่าจ้างของโจทก์ แต่ออกเงินนั้นแทนโจทก์ภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จำเลยออกให้จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายกันเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๕
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๒ และเป็นเงินที่จ่ายให้สำหรับระยะเวลาที่จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้าง ดังนั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๕ และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่งด้วย