ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๑๑-๖๐๑๗/๒๕๔๕
แพ่ง โมฆะกรรม (มาตรา ๑๕๐)
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๑๕ , ๑๐๘ ,๑๑๕ ,๑๑๘ วรรคสอง)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ (มาตรา ๔๙)
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ (มาตรา ๕ ,๑๐ ,๑๑)
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างของจำเลยเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงออกจากงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๕ ,๑๐ , ๑๑ ประกอบ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๐๘ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานที่มีผลผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี และลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๕ ปี เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงไม่เท่าเทียมกันโดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างชายและหญิงทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกันอย่างไร จึงขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับดังกล่าว เฉพาะส่วนที่ให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ ๕๐ ปี จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ ไม่มีผลใช้บังคับ
การที่จำเลยให้โจทก์เกษียณอายุโดยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิด และไม่มีเหตุให้เลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ จัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา ๔๙
จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี ส่วนลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๕ ปี ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการตลอดมา ขณะโจทก์ทำสัญญาจ้างเข้าทำงานกับจำเลยก็รับรู้และยอมกระทำตามข้อบังคับฯ แต่ต่อมาข้อบังคับฯ ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๑๕ ทำให้ข้อบังคับ ฯ ในส่วนที่กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ ๕๐ ปี ไม่มีผลบังคับต่อไป ดังนั้น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของจำเลยส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผลของการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เกิดจากการที่จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้ประกอบดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี