นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม


782 ผู้ชม


นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๒๓๗/๒๕๔๕

แพ่ง บอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน (มาตรา ๕๘๓)

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๒๐ , ๑๑๖ ,๑๑๗ ,๑๑๘ )

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ (มาตรา ๔๙ , ๕๔)

พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯ

ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ

 

 จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ

 โจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยหลายฉบับ และโจทก์ลาออกเพื่อรับบรรจุเป็นพนักงาน แต่โจทก์ก็ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องมาตลอดโดยไม่ได้เว้นช่วงระยะเวลาใดตั้งแต่วันที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในวันแรกของสัญญาจ้างฉบับแรก จนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบ สาม ปี ขึ้นไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย หนึ่งร้อยแปดสิบวัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ

 การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๙ หรือไม่นั้น โดยทั่วไปต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเลิกจ้างโจทก์ระหว่างทดลองงานแต่ก็ระบุถึงเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ด้วยว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งจำเลยได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในคำให้การด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง และตามคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย

 โจทก์ทราบเหตุตามที่ ธ. ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานร่วมกันรื้อค้นกระเป๋าของผู้โดยสารแล้วกลับนิ่งเสียไม่รายงานผู้บังคับบัญชา นับว่าเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างมีเหตุผลเพียงพอไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และพฤติกรรมของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

อัพเดทล่าสุด