การโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้าง


829 ผู้ชม


การโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้าง




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๔๒-๗๒๕๔/๒๕๔๕

แพ่ง การโอนสิทธิของนายจ้างต้องให้ลูกจ้างยินยอมด้วย การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน (มาตรา ๕๗๗ , ๑๒๔๓)

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา ๑๓ , ๑๑๘ )

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา ๑๓ มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจาก งานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย การที่ธนาคารจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนควบรวมกิจการกับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารจำเลยที่ ๒ ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่การเลิกกิจการของจำเลยที่ ๑ เพียงแต่จำเลยที่ ๑ ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ทั้งสิ้น ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๔๓ และจำเลยที่ ๒ ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๓ และ ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๗ วรรคแรก ซึ่งผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่า ประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ก็ตาม เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ รายที่แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที ๒ ในกรณีเช่นนี้จึงจะถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ ได้หมดสิ้นไป อันเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ ว่าไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ แล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ ๒ ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ

อัพเดทล่าสุด