หนี้เกิดจากมูลละเมิด ยึดหน่วงเงินบำเหน็จได้หรือไม่


755 ผู้ชม


หนี้เกิดจากมูลละเมิด ยึดหน่วงเงินบำเหน็จได้หรือไม่




การที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของบุคคลอื่นนั้น ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นทุกประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ผู้ที่ครอบครองมีสิทธิจะยึดหน่วงทรัพย์สินได้ ยกตัวอย่างเช่น นำรถไปซ่อมแต่ไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อมรถ เช่นนี้ผู้ซ่อมสามารถยึดหน่วงรถได้ 
 แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น นายจ้างไปยึดหน่วงเงินบำเหน็จไว้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างกระทำละเมิดต่อนายจ้างและคดียังไม่ถึงที่สุด เช่นนี้ศาลจะว่างอย่างไร
 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๐๖ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๓,๘๕๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเหตุเกษียณอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์   โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด
 โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จเป็นเงิน จำนวน ๑,๗๑๐,๑๕๐ บาท ตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๒๙ ข้อ ๔๗ (๔) และข้อ ๕๐ โจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ๑,๗๑๐,๑๕๐ บาท แก่โจทก์
 จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน ๑,๗๑๐,๑๕๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับสมาชิกและเจ้าหน้าที่ของจำเลยบางคนที่ร่วมกันปลอม-แปลงเอกสารใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๘,๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยและทางแพ่ง ผลการสอบสวนสรุปว่าโจทก์มีความผิดทางวินัยและความรับผิดทางแพ่ง สำหรับความผิดทางวินัยจำเลยลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น ส่วนความรับผิดทางแพ่งคณะกรรมการของจำเลยมีมติเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ ให้ดำเนินคดีกับโจทก์ภายในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอรับเงินบำเหน็จ คณะกรรมการของจำเลยมีมติเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ ให้ทำหนังสือหารือไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ตอบหนังสือกลับมาแล้วก็ให้ปฏิบัติตาม แต่นายทะเบียนสหกรณ์ยังไม่ได้ตอบข้อหารือกลับมาจำเลยจึงของดการจ่ายเงินบำเหน็จแกˆโจทก์ไว้ก่อน เพื่อรอคำตอบข้อหารือกลับมา  หรือจนกว่าคดีแพ่งจะถึงที่สุด ขอให้ยกฟ้อง

 ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับของคู่ความแล้ว มีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๗๑๐,๑๕๐ บาท แก่โจทก์
 
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ ๒ ประเด็นที่ ๑ ที่ว่า จำเลยไม่เห็นพ้องกับคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยนั้น เห็นว่า อำนาจในการพิจารณาว่าพยานหลักฐานแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีแล้วหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรคสอง และมาตรา ๑๐๔ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้ยังดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการพิจารณาว่าพยานหลักฐานในสำนวนคดีเพียงพอให้วินิจฉัยแล้วหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ ๒ ประเด็นที่ ๒ ว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินบำเหน็จจำนวน ๑,๗๑๐,๑๕๐ บาท ซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าหนี้ที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์จะต้องร่วมกับพวกรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลยตามที่จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลจังหวัดราชบุรีนั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กับพวกกระทำละเมิดต่อจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย มิใช่หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยเงินบำเหน็จของโจทก์ที่จำเลยครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินบำเหน็จของโจทก์ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑ นอกจากนี้หนี้ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับพวกจะต้องรับผิดต่อจำเลยนั้นก็เป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่และมีจำนวนไม่แน่นอน จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินบำเหน็จของโจทก์เช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๔ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น  

 พิพากษายืน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 10276/46)

อัพเดทล่าสุด