เงินค่าชดเชยนำเงินอื่นมาหักได้หรือไม่
เงินชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ได้กำหนดอัตราค่าชดเชยไว้ ซึ่งหากนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 นายจ้างจะต้องจ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ปัญหาที่จะนำมาเสนอเป็นกรณีที่นายจ้างนำเงินสะสมที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักกับค่าชดเชยที่พนักงานได้รับ อีกทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้ทำบันทึกกันไว้ว่าลูกจ้างยินยอมให้ถือว่าการจ่ายเงินสะสมเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วย กรณีเช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่ ลองติดตามครับ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2544 โจทก์เลิกจ้างลูกจ้าง 3 คน คือ นาง ล., นาง ม. และ นาง ส. เนื่องจากเกษียณอายุ 60 ปี โดยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 10 เดือนเป็นเงิน 126,950 บาท 121,000 บาท และ 141,450 บาท หักด้วยเงินสะสมตัดตอนที่โจทก์เป็นผู้ออกให้เมื่ออายุงานครบ 30 ปี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยล่วงหน้าที่โจทก์ได้จ่ายให้ลูกจ้างดังกล่าวรับไปแล้วเมื่อปี 2534 ปี 2535 และ ปี 2536 จำนวน 48,180 บาท 53,210.85 บาท และ 58,919.75 บาท ตามลำดับ คงเหลือค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างทั้งสามรับไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2545 จำนวน 78,770 บาท 67,789.15 บาท และ 82,530.25 บาท ตามลำดับ แต่ลูกจ้างทั้งสามไม่พอใจได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์จ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องและจำเลยได้มีคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2545 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินสะสมตัดตอนที่ได้จ่ายให้ลูกจ้างทั้งสามอีก 55,679.99 บาท 60,710.84 บาท และ 73,719.75 บาท ตามลำดับ คำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้อง เพราะลูกจ้างทั้งสามตกลงให้ถือว่าเงินสะสมตัดตอนที่ได้รับไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยล่วงหน้า ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2545 ของจำเลย
จำเลยให้การว่า ค่าชดเชยเป็นเงินที่พระราช-บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 เงินสะสมที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์มีวิธีคิดจำนวนแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 เป็นเงินคนละประเภทกับค่าชดเชย ข้อตกลงรับเงินสะสมตัดตอน โดยยอมให้ถือว่าเป็นค่าชดเชยล่วงหน้าเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธินำไปหักออกจากค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนายจ้างของ นาง ล., นาง ม., และนาง ส. มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคำสั่งที่ 83/2526 เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งกำหนดการเกษียณอายุของพนักงานไว้ในหมวดที่ 8 ข้อ 3 ความว่า เมื่อพนักงานมีอายุครบ 60 ปี หรือมีอายุการทำงาน 30 ปี ให้การจ้างเป็นอันสิ้นสุดลง แต่โจทก์อาจต่ออายุงานของพนักงานได้ในกรณีที่เห็นสมควร นาง ล., นาง ม. และ นาง ส. ต่างที่อายุการทำงานครบ 30 ปี และโจทก์ได้ต่ออายุงานของ นาง ล., นาง ม. และ นาง ส. ต่อไปอีกจนกระทั่งบุคคลดังกล่าวมีอายุครบ 60 ปี โจทก์จึงได้เลิกจ้าง และคิดค่าชดเชยให้คนละเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย 10 เดือน โดยไม่ได้นำเงินค่าวิชาชีพและค่าพื้นที่พิเศษซึ่งถือเป็นค่าจ้างมารวมคำนวณเป็นฐานการคิดค่าชดเชยด้วย ทำให้จำนวนค่าชดเชยที่โจทก์จะต้องจ่ายขาดไป
ทั้งโจทก์ได้นำเงินสะสมตัดตอนที่โจทก์ได้จ่ายให้บุคคลดังกล่าวไปแล้วขณะมีอายุการทำงานครบ 30 ปี และบุคคลดังกล่าวทำบันทึกยินยอมให้ถือว่าการจ่ายเงินสะสมดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วย มาหักออกจากค่าชดเชย คงจ่ายให้เฉพาะจำนวนคงเหลือมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินสะสมตัดตอนถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้นิยามคำว่าค่าชดเชยหมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมือเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ก็กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยไว้ในหมวดที่ 8 ว่าด้วยการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานข้อ 2 ซึ่งสรุปได้ว่าพนักงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง
ส่วนการจ่ายเงินสะสมได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 9 ว่าด้วยสวัสดิการข้อ 9 ซึ่งสรุปได้ว่า โจทก์จะจ่ายเงินสะสมให้แก่พนักงานทุกเดือนตามอัตราที่กำหนด มากน้อย ตามระยะเวลาการทำงานและเงินเดือนที่ได้รับโดยนำฝากเข้าบัญชีไว้ในธนาคารจนกว่าจะครบจำนวน 1,000,000 บาท และจะเบิกถอนจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นพนัก-งาน โดยถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นการลาออก การเลิกจ้างหรือการเกษียณอายุเว้นแต่การลาออกก่อนครบกำหนด 5 ปี และการเลิกจ้างเพราะกระทำความผิด ค่าชดเชยและเงินสะสมตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจองโจทก์จึงเป็นเงินคนละประเภทกันเช่นเดียวกับความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์มิได้กำหนดให้จ่ายเงินสะสมเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าการจ่ายเงินสะสมตัดตอนเป็นการจ่ายค่าชดเชย แม้นาง ล., นาง ม. และนาง ส. จะทำบันทึกยินยอมให้ถือว่าการจ่ายเงินสะสมตัดตอนเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วย ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นข้อตกลงที่ตัดสิทธิในการได้รับค่าชดเชยตามพระ-ราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงไม่อาจนำเงินสะสมตัดตอนที่ได้จ่ายให้แก่นาง ล., นาง ม. และนาง ส. ไปแล้วมาหักออกจากค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ตามแนวคำพิพากษาข้างต้นพอจะพิจารณาได้ว่า หากระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างระบุว่าการจ่ายเงินสะสมดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชย ก็จะถือว่าการจ่ายเงินสะสมของนายจ้างดังกล่าวเป็นการจ่ายชดเชยด้วย แต่ถ้านายจ้างกับลูกจ้างทำหนังสือตกลงกันเอง ว่าการจ่ายเงินสะสมตัดตอนเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยก็จะไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายถือเป็นโมฆะ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 9025/2546)
ที่มา: นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 408 วันที่ 16-31 สิงหาคม 2547