ตัวแทนประกันชีวิต
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายค่าจ้าง, ค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องให้นายจ้างจ่ายได้ ส่วนจะมีสิทธิได้รับหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป
ดังนั้น การที่จะมีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะต้องฟังว่าเป็นลูกจ้างและนายจ้างต่อกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่มีสิทธิ ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจโดยง่าย ๆ คำว่านายจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ส่วนคำว่าลูกจ้างนั้น คือ ผู้ตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยรับค่าจ้าง
แต่มีลูกจ้างประเภทหนึ่ง คือ ตัวแทนประกันชีวิต มีตำแหน่งผู้จัดการเขตทำหน้าที่ขายประกันมีเงินเดือนแน่นอน นอกจากมีเงินเดือนแล้วยังมีค่าตอบแทน ต้องตอกบัตรลงเวลาทำงาน ลูกจ้างประเภท นี้ถือเป็นลูกจ้างที่จะมีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ ศาลฎีกาให้เหตุผลอย่างไร ลองติดตามครับ
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนประกันชีวิตประจำสาขาระยอง ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าจากการขายประกันชีวิตและค่าส่งเสริมการสร้างตัวแทน และยังให้โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่ผู้จัดการเขต โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนอีกส่วนหนึ่ง ส่วนโจทก์ที่ 2 ให้ทำหน้าที่ด้านธุรการอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ลาออก ระหว่างทำงานจำเลยยังมิได้จ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 38,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 51,870 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่ลูกจ้างจำเลย แต่เป็นเพียงตัวแทนประกันชีวิต ตำแหน่งผู้จัดการเขตเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการฝึกอบรมควบคุมดูแลและรับผิดชอบตัวแทนประกันชีวิตในสังกัดของตนให้ปฏิบัติตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันชีวิต ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมสั่งการหรือให้คุณให้โทษแก่พนักงานของจำเลย เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการเขตเป็นลักษณะของค่าใช้จ่ายจากผลสำเร็จของการปฏิบัติงานตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิต ส่วนงานธุรการที่โจทก์ที่ 2 ทำเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ช่วยโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามี เพื่อให้ผลการดำเนินการของโจทก์ที่ 1 สำเร็จตามเป้าหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน และเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการเขตประจำสำนักงานสาขาจังหวัดระยอง มีหน้าที่บริหารงานในสาขาตามนโยบายที่จำเลยกำหนด นอกจากได้รับค่าตอบแทนเป็นนายหน้าจากการขายประกันชีวิตแล้ว โจทก์ที่ 1 ยังได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท และค่าส่งเสริมการขายประกันชีวิตอีกเดือนละ 8,000 บาท ตามหนังสือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการเขต ระเบียบว่าด้วย เรื่องโครงสร้างผู้บริหารฝ่ายขายสามัญและค่าตอบแทนและหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่วนโจทก์ที่ 2 มีหน้าที่ทำงานด้านธุรการของสำนักงานสาขาจังหวัดระยองด้วย และโจทก์ทั้งสองต้องมาลงเวลาทำงานที่สำนักงานสาขาตามสำเนารายชื่อพนักงาน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยอีกสถานะหนึ่งหรือไม่"
เห็นว่า ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันชีวิตที่โจทก์ทั้งสองทำกับจำเลยข้อ 7 ระบุว่า "คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจ โดยชัดแจ้งว่าบริษัทมีความผูกพันกับตัวแทนประกันชีวิตในฐานะตัวการกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการตามข้อตกลงแห่งสัญญา ฉบับนี้เท่านั้น โดยมิได้อยู่ในฐานะบริษัทกับพนักงาน หรือนายจ้างกับลูกจ้างแต่อย่างใด" และตามสัญญาแต่งตั้งผู้บริหารตัวแทนประกันชีวิตที่โจทก์ที่ 1 ทำกับจำเลย ข้อ 2 ก็ระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ความผูกพันระหว่างบริษัทกับผู้บริหารตัวแทนประกันชีวิตเป็นไปในฐานะตัวการกับตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการเท่านั้นมิใช่ในฐานะบริษัทกับพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท
จึงพึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยแต่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยโดยแต่งตั้งโจทก์ที่ 1เป็นผู้บริหารตัวแทนประกันชีวิตดำรงตำแหน่งผู้จัดการเขตนั้น โจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีเจตนาที่จะผูกพันต่อกันในฐานะเป็นตัวการกับตัวแทนตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ15 ตัวแทน หาได้มีความประสงค์จะผูกพันอย่างลูกจ้าง กับนายจ้างไม่ ถึงแม้โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท และเงินสนับสนุนการขายงานอีกเดือนละ 8,000 บาท ตามหนังสือแต่งตั้งผู้จัดการเขตและระเบียบเรื่องโครงสร้างผู้บริหารฝ่ายขายสามัญและค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นระเบียบที่จำเลยกำหนดขึ้นใช้เฉพาะตัวแทนประกันชีวิต มิได้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างทั่วไปของจำเลย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์อื่นดังลูกจ้างทั่วไปของจำเลย เช่น ค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง สิทธิตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทน เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งแยกผู้ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตออกจากผู้ที่เป็นลูกจ้างของจำเลย ฐานะและสิทธิของโจทก์ทั้งสองจึงแตกต่างจากลูกจ้างของจำเลย ข้อที่โจทก์ทั้งสองต้องลงเวลาทำงานเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาและเพื่อให้กิจการของจำเลยมีประสิทธิภาพและรัดกุม โจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงทำความตกลงกันได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องทำงานตามคำสั่ง หรือการบังคับบัญชาของจำเลย อีกประการหนึ่ง ไม่ปรากฏว่ากรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าวจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองเป็นประการอื่นนอกเหนือจากการเลิกสัญญา
ดังนั้นแม้จะได้ความว่า โจทก์ทั้งสองต้องทำงานด้านธุรการของสำนักงานด้วยก็เป็นเพียงการช่วยเหลืองานของจำเลยซึ่งเกี่ยวข้องกับงานของโจทก์ที่ 1 ให้บรรลุผลสำเร็จอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองด้วย ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองมีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยแต่ประการใดที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน (ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4762-4763/2546)
ที่มา: คอลัมน์ Hr.Law โดย : ยงยุทธ ไชยมิ่ง
นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 415 ประจำวันที่ 1-15 ธันวาคม 2547