การโยกย้ายเป็นสิทธิของนายจ้าง...แต่ต้องเหมาะสม


1,231 ผู้ชม


การโยกย้ายเป็นสิทธิของนายจ้าง...แต่ต้องเหมาะสม




การโยกย้ายเป็นสิทธิของนายจ้าง..แต่ต้องเหมาะสม

ฎีกาที่ 166-167/2546
 
โดยปกติสิทธิในการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานย่อมเป็นสิทธิของนายจ้าง และถือเป็นอำนาจในทางบริหารจัดการของนายจ้าง แต่ถ้าหากนายจ้างมีการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ หรือโยกย้ายให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานที่ห่างจากสถานที่ทำงานเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาระให้แก่ลูกจ้าง หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง  คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ถือว่าเป็นคำสั่งที่เป็นธรรมสำหรับลูกจ้างหรือไม่ ถ้าหากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง จะถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้างหรือไม่ (พิมพ์ตามคำพิพากษาฎีกา พ.ศ.2546 เล่มที่ 1 หน้าที่ 39-42 ตามที่ขีดเส้นใต้)
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
 
 
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานกับบริษัทยูไนเต็ดแฟตแอนด์ออยล์ จำกัด  ตำแหน่งพนักงานฝ่ายขายต่างจังหวัด โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานกับบริษัทยูไนเต็ดแฟตแอนด์ออยล์ จำกัด ตำแหน่งพนักงานขับรถฝ่ายขายต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 บริษัท ยูไนเต็ดแฟตแอนด์ออยล์ จำกัด ได้ขยายกิจการไปเปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ในนามจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงโอนมาเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยตกลงจะจัดรถรับส่งพนักงาน แต่เมื่อย้ายสถานประกอบกิจการจริงกลับไม่มีรถรับส่ง ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องประสบความยากลำบากหากต้องไปทำงานที่จังหวัดเพชรบุรี การโอนมาเป็นลูกจ้างจำเลยได้มีการเปลี่ยนหน้าที่โจทก์ที่ 1 เป็นหน้าที่เพื่อพัฒนาจัดส่ง โจทก์ที่ 2 เป็นหน้าที่เพื่อนำรถไปบริการจัดส่งสินค้าที่คลังสินค้า ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องขาดรายได้ในส่วนเบี้ยเลี้ยงและค่คอม
มิชชั่นอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง พฤติกรรมเช่นนี้จำเลยกระทำเพื่อบีบให้โจทก์ทั้งสองลาออก 
 
โจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงความยากลำบากแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์ที่ 2 เคยออกนอกบริษัทจำเลยได้เพื่อความคล่องตัวในการติดต่อกับลูกค้าในตำแหน่งพนักงานขาย จำเลยกลับหาว่าโจทก์ที่ 2 ละทิ้งหน้าที่โจทก์ทั้งสองถือว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการเลิกจ้าง โดยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่พิจารณาและสืบพยานโจทก์จำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้าของวันที่ 1 ถึง 11 กันยายน 2543 และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่าสินจ้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้างจ่าย  ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ที่ 1 ให้ จำเลยให้โจทก์ที่ 2 ทำงานในตำแหน่งและสถานที่ทำงานเดิม มิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด จนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจชำระเสร็จให้โจทก์ที่ 2
 
 
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองเคยทำงานอยู่หน่วยงานฝ่ายขาย ต่อมาขายสินค้าไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ติดต่อกันหลายเดือน จำเลยจึงย้ายโจทก์ทั้งสองมาทำงานในหน้าที่พัฒนาจัดส่งและบริการสินค้าตามลำดับ  แต่โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานใหม่  การย้ายโจทก์ทั้งสองเป็นการหมุนเวียนหน้าที่ตามปกติ เป็นงานในระดับเดียวกัน ตำแหน่งไม่่ต่ำกว่าเดิม  ค่าจ้างเท่าเดิม โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่มีสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำกัดสิทธิการโยกย้ายหน้าที่ของนายจ้างไว้ การย้ายโจทก์ทั้งสองจึงมีความจำเป็นและเป็นธรรมแล้ว จำเลยไม่สามารถย้ายโจทก์ที่ 2 กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมและสภาพการจ้างเดิมได้ ไม่ใช่การกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ทั้งสองลาออก ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม กล่าวคือ โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 อย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด จำเลยไม่อาจเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง  โจทก์ที่ 2 บรรยายสภาพแห่งข้อหาเป็นสองสถานคือหาว่าจำเลยโยกย้ายตำแหน่งสถานหนึ่ง กับหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ขอให้ยกฟ้อง
 
 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เคลือบคลุม จำเลยมีสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 14/1  หมู่ที่ 4  ซอยสุขสวัสดิ์ 62  เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพ-มหานคร  ต่อมาจำเลยขยายโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าไปที่เลขที่ 66 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งห่างจากกรุงเทพมหานคร 120 กิโลเมตร จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองจากที่ทำงานที่กรุงเทพมหานคร  ให้ไปทำงานที่โรงงานจังหวัดเพชรบุรี โดยไม่มีที่พัก เบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้ ไม่มีรถรับส่ง เป็นการก่อภาระให้โจทก์ทั้งสองมากเกินไป เป็นการบีบบังคับให้โจทก์ทั้งสองต้องลาออก คำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่จำต้องปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยถือเป็นการเลิกจ้างโดยปริยาย โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิด
 โจทก์ที่ 2พิพาทกับจำเลย ยากที่จะทำงานร่วมกันได้ต่อไป จึงเห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแทนการให้โจทก์ที่ 2 กลับเข้าทำงาน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แก่โจทก์ที่ 1 ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 2  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามลำดับ นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง (วันที่ 29 กันยายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
 ศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าการที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองไปทำงานที่โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยปริยายหรือไม่ ศาลแรง-งานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่จำเลยจะมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองไปทำงานที่โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีนั้น โจทก์ทั้งสองทำงานอยู่ที่สำนักงานของจำเลย ซึ่งอยู่ที่ถนนสุขสวัสดิ์
เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร โจทก์ทั้งสองได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,946 บาท และ 5,771 บาท ตามลำดับ โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ของจำเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 120 กิโลเมตร ไม่มีที่พักให้แก่พนักงาน

 เดิมเคยมีรถรับส่งพนักงานจากสำนักงานที่ถนนสุขสวัสดิ์ไปที่ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แต่ปัจจุบันไม่มี และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้สิทธิในการย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานพนักงาน (ลูกจ้าง) ของจำเลยซึ่งโดยปกติแล้วจำเลยในฐานะนายจ้างสามารถกระทำได้ตามความเหมาะสม เพราะเป็นอำนาจในการบริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสองซึ่งมีรายได้น้อย ให้ไปทำงานที่โรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากสถานที่ทำงานเดิมถึง 120 กิโลเมตร โดยจำเลยไม่จัดที่พักหรือจัดหารถรับส่งในการไปทำงานให้  อีกทั้งโจทก์ทั้งสองก็ไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ 

 คำสั่งของจำเลยดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง  ยากที่โจทก์ทั้งสองซึ่งมีรายได้น้อยอยู่แล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยได้  จึงมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง  คำสั่งของจำเลยดังกล่าวแม้จะชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม  การที่โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองจงใจขัดคำสั่งของจำเลยและละทิ้งหน้าที่ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง  และแม้คำสั่งของจำเลยจะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม 

 แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้ออกคำสั่งย้ายดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้  จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยปริยายตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฟ้อง  เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ (วันที่ 12 และ 13 กันยายน 2543) จำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง จำเลยเพิ่งจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 ฉะนั้นขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในอุทธรณ์ก็ตาม แต่อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้" พิพากษากลับ  ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
 
 ตามแนวคำพิพากษาฎีกานี้ ถ้าหากฟังได้ว่าการเลิกจ้างของจำเลยมีผล นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแน่นอน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 166 - 167/2546)

ที่มา: คอลัมน์ HR.Law โดย ยงยุทธ ไชยมิ่ง
นิตยสาร: Recruit ฉบับที่ 416 ประจำวันที่วันที่ 16-31 ธันวาคม 2547


อัพเดทล่าสุด