เป็นลูกจ้างหรือไม่ ??


1,126 ผู้ชม


เป็นลูกจ้างหรือไม่ ??




สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งเรียกนายจ้าง และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกลูกจ้าง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ต่อกัน โดยลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และความเป็นนายจ้างและลูกจ้างนั้น ถ้าเป็นลูกจ้างทั่วไปที่มีเงินเดือนประจำ อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม ก็จะถือว่าชัดเจนถึงความเป็นนายจ้าง และลูกจ้าง

แต่มีบางกรณีที่นายจ้างตกลงจ้าง จ่ายเงินเดือนให้ หักภาษี ณ ที่จ่าย มีการหักเงินสมทบส่งสำนักงานประกันสังคม แต่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นลูกจ้าง ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาหยิบยกมาแนวทางตีกรอบการเป็นลูกจ้างมีอย่างไรบ้าง ลองติดตามครับ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนาย ส. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของจำเลย และเดิมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์ทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารของจำเลย มีหน้าที่บริหารงานทั่วไป โดยจำเลยตกลงจ้างโจทก์อัตราเดือนละ 80,000 บาท เมื่อหักภาษีและเงินประกันสังคมแล้วเหลือสุทธิ 71,275 บาท

โจทก์ทำงานในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของจำเลยเรื่อยมา แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่จ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2542 เป็นต้นมา จนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2544 โจทก์จึงลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบริหารของจำเลย จำเลยติดค้างเงินเดือนตามข้อตกลงการจ้างรวมทั้งสิ้น 1,296,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,379,160 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,296,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยคนหนึ่ง เงินจำนวน 80,000 บาท ต่อเดือนไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้ตกลงแบ่งปันกันเพราะจำเลยมีกำไร กลางปี 2542 จำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่มีเงินที่จะนำมาแบ่งปันกัน กรรมการของจำเลยก็ตกลงที่จะไม่รับเงินนี้ แต่พนักงานของจำเลยยังได้รับเงินเดือนทุกคน โจทก์ไปตั้งบริษัท เทรนเลสส์ เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นผู้บริหาร มีรายได้ของตนเอง ส่วนบริษัทจำเลย โจทก์ไม่ได้บริหารงานอีกต่อไป โดยนาย ส. เป็นผู้บริหารในปัจจุบัน โจทก์ไม่มีเงินเดือนและไม่มีการจ้างงานกันจริง เรื่องการนำส่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และเงินประกันสังคมเป็นเรื่องของฝ่ายบัญชีที่ทำขึ้น และเป็นการภายใน โจทก์รู้และทราบดีว่าไม่มีการจ่ายเงินเดือนกันจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ และได้รับค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย นาย ส. ได้ขอให้โจทก์เข้ามาช่วยบริหารกิจการให้จำเลยตั้งแต่ ปี 2539 โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ กระทำการแทนจำเลย โจทก์มีอำนาจบริหารกิจการจำเลยทุกอย่าง จนเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นาย ส. ได้จดทะเบียนให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลย ในการบริหารงานแล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรทำอย่างไรก็ได้ ไม่มีกำหนดเวลาทำงานแน่นอน โจทก์ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับในการทำงานของจำเลย แต่จำเลยให้ค่าตอบแทนเดือนละ 100,000 บาท โดยมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายและเงินประกันสังคมด้วย เห็นว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์ไม่มีรูปแบบแผนที่แน่นอน ไม่เคร่งครัดเรื่องเวลาทำงาน ผิดไปจากลักษณะการทำงานของพนักงานอื่นในหน่วยงานของจำเลย การทำงานของโจทก์มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือตามคำขอของนาย ส. มิใช่เป็นการทำงานตามคำสั่งของจำเลย ขณะที่โจทก์ทำงานให้จำเลย จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ แต่มีลักษณะว่าโจทก์มีอำนาจบริหารกิจการจำเลยทุกอย่าง แล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควรเอง แม้จะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ กับมีหนังสือของนาย ส. ขอให้โจทก์เข้ามาทำงานให้ก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าว จึงไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกัน เมื่อโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย และไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 628/2547)


ที่มา: HR.Law นิตยสาร Recruit Update ฉบับที่ 422 วันที่ 16-31 มีนาคม 2548
โดย : ยงยุทธ ไชยมิ่ง
ทนายความอาวุโส


อัพเดทล่าสุด