ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ กรณีไม่ถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง (1)


787 ผู้ชม


กรณีไม่ถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง (1)




นางเสาวลักษณ์  แสงเจริญรัตน์                              โจทก์

สำนักงานประกันสังคม                                          จำเลย

ประเด็น   1.  นายสมชาย  แสงเจริญรัตน์  ลูกจ้างผู้ตาย  ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่

                 2.  มีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่       

                นายสมชาย แสงเจริญรัตน์  ลูกจ้างบริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ตำแหน่ง ผู้จัดการสาขามหาสารคาม ได้รับคำสั่งจากนายวิญญู คุวานันท์ นายจ้างให้ไปสำรวจที่ดินที่จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่ง โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด มีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดด้วย วันที่ 12 พฤศจิกายน 2538  นายสมชายฯ เดินทางไปจังหวัดร้อยเอ็ด กับนายสังคม ศรีหนองหว้า เมื่อสำรวจที่ดินเสร็จแล้วระหว่างเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดจะมาจังหวัดขอนแก่น ขณะนั้นเป็นเวลา 01.45 นาฬิกา ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538  ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน นายสมชาย ฯ ถึงแก่ความตาย โดยนายสมชายฯ ยังไม่ได้ส่งรายงานการสำรวจที่ดินต่อนายวิญญูฯ  และจุดที่เกิดเหตุเป็นถนนที่รถยนต์วิ่งสวนทางกันมา จุดเกิดเหตุชนกันนั้นเกิดในช่องรถยนต์ของฝ่ายที่วิ่งสวนทางมา จากการชันสูตรพลิกศพของนายสมชายฯพบระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด 124 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดมหาสารคามจึงมีคำวินิจฉัยว่า อุบัติเหตุรถยนต์ชนกันและนายสมชายฯถึงแก่ความตายนั้นมิได้เกิดจากการทำงานให้กับนายจ้าง แต่คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยว่า เหตุที่นายสมชายฯถึงแก่ความตายนั้นเกิดจากการทำงานให้นายจ้าง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยว่า การตายของนายสมชายฯมิได้เกิดจากการทำงานให้นายจ้าง และโจทก์จำเลยรับกันว่าเงินทดแทนตามฟ้องโจทก์นั้น โจทก์คำนวณไม่ถูกต้อง เพราะการคำนวณจะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมข้อ 5 เมื่อคำนวณโดยกำหนดระยะเวลา 8 ปี จะได้รับเพียง 864,400 บาท เท่านั้น และกฎกระทรวงฉบับที่ 16 พ.ศ. 2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ในข้อที่ 3(1) ว่าถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุราประกอบกับคู่ความร่วมกันแถลงว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุพจน์  แก่นสุวรรณ แพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดคนไข้ถึง 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น ถือว่าเมาสุราจนไม่สามารถครองสติได้

                ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นว่า นายสมชาย แสงเจริญรัตน์เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอื่นจนไม่สามารถครองสติได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำให้การจำเลยจะให้กาต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ แต่คำวินิจฉัยของพนักงานวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดมหาสารคามและคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลย มิได้อ้างเหตุในประเด็นดังกล่าว คงอ้างแต่เพียงเหตุเดียวว่า การประสบอันรายที่ได้รับมิได้เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่อ้างในคำสั่งและคำวินิจฉัยขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลหาได้ไม่จึงวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวให้ ส่วนในประเด็นที่นายสมชายฯ ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ เห็นได้ว่าการที่นายสมชายฯ เดินทางในยามวิกาลเช่นนี้มิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะการสำรวจที่ดินได้เสร็จเรียบร้อยไปแล้วอยู่ระหว่างการเดินทางกลับที่พัก การที่นายสมชายฯจะนำรายงานไปฝากยามที่สำนักงานของนายจ้างก็มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติตามทางการที่จ้าง แต่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่เพราะรายงานนี้จะนำเสนอต่อประธานกรรมการในวันรุ่งขึ้น ซึ่งนายสมชายฯ ควรจะนำเสนอในวันรุ่งขึ้นอันเป็นเวลาทำงานตามปกติได้อยู่แล้ว เมื่อนายสมชายฯ ประสบอันตรายในระหว่างการเดินทางเช่นนี้ จึงมิใช่เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง พิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

คดีหมายเลขดำที่ 7653/2540

คดีหมายเลขแดงที่ 13075/2540


อัพเดทล่าสุด