การยื่นข้อเรียกร้อง
แม้ลูกจ้างจะมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง และเพิ่งมาลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในภายหลัง ก่อนที่นายจ้างจะยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างซึ่งต่อมาก็ได้มีการเจรจาและตกลงกันได้ ทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ก็มิได้ห้ามลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม จึงถือว่าลูกจ้างเป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง ดังนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันลูกจ้างดังกล่าวตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีทั้งการขอให้เพิ่มและลดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างและทำงานซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิกระทำได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ แต่ละฝ่ายอาจจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่เจรจาต่อรองกัน มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวโดยลดลงไม่ได้
ผู้แทนลูกจ้างที่ได้รับเลือกตั้งให้เข้าร่วมในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องและได้ร่วมเจรจากับฝ่ายนายจ้าง ในที่สุดทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้การกระทำของผู้แทนลูกจ้างเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลผูกพันตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 1615/2545