ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ การกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน


834 ผู้ชม


การกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน




        คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลย ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนว่าลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย เช่น ห้ามลูกจ้างมีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับผู้จัดจำหน่ายซึ่งลูกจ้างมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่ด้วย หรือห้ามทำงานให้กับ เป็นตัวแทน หรืออนุเคราะห์ผู้จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อกับจำเลยเพราะถ้าลูกจ้างมีอิทธิพลหรืออำนาจต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากับจำเลยและลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่กับบริษัทคู่ค้าดังกล่าวย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจและช่องทางให้ลูกจ้างใช้อิทธิพลหรืออำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในทางที่อนุเคราะห์หรือให้ผลประโยชน์แก่บริษัทคู่ค้าที่ลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินได้โดยง่ายและยากต่อการตรวจสอบจนอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง


        โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลย และโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาให้บริษัท ส. ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลย โดยวิศวกรอีกคนหนึ่งของจำเลยซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัท ส. ในชื่อของผู้อื่นเป็นผู้พิจารณาก็ตาม แต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจ กับเป็นช่องทางให้โจทก์กระทำประการใดประการหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์หรืออนุเคราะห์ประโยชน์ให้แก่บริษัท ส.ที่โจทก์ร่วมก่อตั้งเป็นพยานการโอนหุ้นและเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย


        ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าตำแหน่งของโจทก์สามารถเอื้ออำนวยหรือหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัท ส. ได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามคู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลว่าด้วยการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างตามที่จำเลยได้ระบุการกระทำของโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้าง แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.๓ ข้อใดจำเลยก็มีสิทธิให้การโดยยกรายละเอียดการกระทำของโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างแล้วระบุข้อของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ตรงกับข้อห้ามที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา๑๗ วรรคสาม


        ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนหมวดที่ ๗ ข้อ ๗.๑๓, ๗.๑๒, ๑๓และจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างจึงยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การไม่ได้นั้น ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อดังกล่าวและจำเลยก็ไม่ได้ให้การไว้ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนนี้มิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งและเป็นการอุทธรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริงใหม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๕๔วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 599/2545

อัพเดทล่าสุด