สิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน
เมื่อเข้ากรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา๑๒๓ นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา ๑๒๓ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๒๔ แล้วหากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานเพื่อให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ตามมาตรา ๑๒๕ บทบัญญัติตามมาตรา ๑๒๓ ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือ จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่แล้ว ก็ยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติในระหว่างนั้น
เมื่อลูกจ้างเลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อนายจ้างด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้างจึงยังไม่มีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด เมื่อลูกจ้างได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันไปยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานเพื่อขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไว้ศาลแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของลูกจ้าง
คำพิพากษาฎีกาที่ 238/2545