ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ คำพิพากษาศาลฎีกา : จ้างแรงงาน


967 ผู้ชม


คำพิพากษาศาลฎีกา : จ้างแรงงาน




นางสาวปรียอร ทองใบใหญ่       โจทก์
บริษัทลากูน่าแกรนด์ จำกัด       จำเลย

แพ่ง จ้างแรงงาน (มาตรา 575)
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ (มาตรา 120)

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 120 เป็นบทบัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างต้องมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติโดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดโดยข้อความตามมาตรา 120 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น” นั้น ย่อมหมายถึง นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้วอันจะทำให้นายจ้างมีอำนาจในการบริหารงานที่จะสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ของนายจ้างตามความเหมาะสมได้ปรากฏว่าขณะจำเลย สั่งย้ายโจทก์ จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ การที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 120 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานขาย โดยให้โจทก์ทำงานที่สำนักงานแผนกการขาย ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน ตรอกกัปตันบุช เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยย้ายสำนักงานแผกการขายและให้โจทก์ไปทำงานที่สำนักงานแผกการขายตั้งอยู่เลขที่ 140 อาคารเคี่ยนหงวน ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการว่าจ้างจำเลยตกลงว่าเมื่อโจทก์ทำงานครบ 1 ปี โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปีต่อไป 10 วัน หากจำเลยไม่จัดให้โจทก์หยุดจำเลยจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ จำเลยจ่ายเงินเดือน ค่าบริการเพิ่ม และค่าครองชีพเป็นค่าจ่างให้โจทก์ในแต่ละเดือน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่อาคารเคี่ยนหงวนโดยให้มีผลนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 พร้อมกับสั่งให้โจทก์ไปทำงานประจำที่สำนักงานแผนกการขายของจำเลยตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ 4 ถนนศรีสุนทร ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นับแต่วันดังกล่าว คำสั่งของจำเลยที่ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดในทันทีโจทก์ไม่สามารถจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยใหม่และภารกิจในครอบครัวเดิมได้ทันจึงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยมิได้แจ้งคำสั่งย้ายสถานประกอบกิจการให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2543 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยพร้อมกับให้จำเลยชำระค่าจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายแก่โจทก์ จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินตามกฎหมายแก่โจทก์คือค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 115,799.40 บาท ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 38,599.80 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จำนวน 10 วัน เพิ่มจากอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า คิดเป็นเงิน 25,733.20 บาท เงินค้างเบิกค่าใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2542 ที่โจทก์ทดรองเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานให้แก่จำเลยเป็นเงิน 22,637 บาท คิดถึงวันฟ้องจำเลยต้องจ่ายเงินต้น 202,769.40 บาท และดอกเบี้ย 12,863.43 บาท รวมเป็นเงิน 215,632.83 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 215,632.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้น 202,769.40 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบสถานที่ตั้งทั้งสามแห่งของจำเลยดีมาโดยตลอดจำเลยมิได้ย้ายสถานที่ตั้งประกอบกิจการเป็นเพียงจำเลยย้ายสำนักงานแผนกการขายซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารเคี่ยนหงวนไปตั้งอยู่ในอาคารไทยวาทาวเวอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลย จึงไม่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 และเนื่องจากการย้ายสำนักงานแผนกการขายไปตั้งอยู่ ณ ที่สำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยนั้นมีความจำเป็นต้องตกแต่งสำนักงานให้เหมาะสมในการใช้งานจำเลยจึงให้ลูกจ้างแผนกการขาย 3 คน รวมทั้งโจทก์ไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการชั่วคราวจนกว่าการตกแต่งจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้จำเลยในฐานะนายจ้างมีอำนาจที่จะย้ายลูกจ้างไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการย้ายสำนักงานแผนกการขาย อีกทั้งลักษณะการทำงานของโจทก์ต้องเดินทางเพื่อติดต่อลูกค้าเป็นปกติธุระ การที่จำเลยให้โจทก์ไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะงานที่โจทก์พึงปฏิบัติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยพิเศษ เนื่องจากจำเลยมิได้ย้ายสถานที่ตั้งประกอบกิจการ จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือโจทก์โดยการจ่ายเงินให้ตามที่โจทก์ขอ แต่ใช้ฐานในการคำนวณตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยย้ายแผนกการขายจากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการย้ายสถานที่ประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์หรือครอบครัว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับ และจำเลยไม่แจ้งการย้ายสถานประกอบกิจการให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน 10 วัน คิดเป็นเงิน 11,613 บาท และโจทก์ได้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการทำงานแทนจำเลย 22,637 บาท แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ 104,514 บาท ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,838 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,613 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จ และเงินทดรองจ่ายในการทำงาน 22,637 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2543 ไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า การย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 จะต้องเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการไปในที่แห่งใหม่ มิใช่ย้ายไปสถานที่ที่จำเลยมีและใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนแล้วในขณะย้ายโจทก์นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 เป็นบทบัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างต้องมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติโดยให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น” ย่อมหมายถึงนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ แต่มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการที่อื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารงานที่จะสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ของนายจ้างตามความเหมาะสมได้ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 มกราคม 2543 และย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต แม้ศาลแรงงานกลางมิได้ชี้ชัดว่า จำเลยมีสถานประกอบกิจการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความชัดจากคำเบิกความของโจทก์ว่าโจทก์เคยถูกจำเลยสั่งให้ไปช่วยทำงานที่สำนักงานของจำเลยสาขาภูเก็ตคราวละประมาณ 1 เดือน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งสถานประกอบกิจการขึ้นใหม่ที่จังหวัดภูเก็ตแสดงว่าขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้วจึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานในสถานประกอบกิจการของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545)

อัพเดทล่าสุด