ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย : กรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม


971 ผู้ชม


การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย : กรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม




โดยทั่วไปแล้วการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามอายุการทำงานของลูกจ้างแต่ละรายที่ได้เลิกจ้างนั้น1 แต่กรณีการจ่ายค่าชดเชยนี้กฎหมายก็ได้กำหนดข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างได้กระทำความผิดดังต่อไปนี้2
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
    (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
    (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
    (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
    (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
    (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
    (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงแต่เพียงความผิดตามมาตรา 119 (4) กรณีลูกจ้างฝ่าฝืน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมนี้ เท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่ประกอบธุรกิจอย่างมาก
ซึ่งเหตุเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (4) ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นเรื่องที่นายจ้างได้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ คำสั่งให้ลูกจ้างปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่ง อย่างใด และลูกจ้างมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างนั้น ซึ่งถ้าเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ในการฝ่าฝืน (กระทำผิด) ครั้งแรกของลูกจ้าง โดยไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชย แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างต้องตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนครั้งหนึ่ง และเมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันนั้นอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้กระทำความผิดครั้งแรก นายจ้างจึงจะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย3
ดังนั้นข้อยกเว้นข้อนี้หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นการฝ่าฝืน
  1. ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งนายจ้างได้ทำเป็นหนังสือ และประกาศให้ลูกจ้างทราบพร้อมส่งสำเนาให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานมอบหมายตามมาตรา 108 แล้ว4
  2. ระเบียบ ซึ่งนายจ้างได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับลูกจ้างในการทำงานให้แก่นายจ้าง ระเบียบดังกล่าวนายจ้างอาจกำหนดด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือระเบียบที่เป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดมาจนเป็นที่รู้ทั่วกัน5
  3. คำสั่ง ซึ่งนายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดกระทำการตามหน้าที่และลูกจ้างได้ทราบ คำสั่งนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งด้วยวาจา หรือคำสั่งเป็นหนังสือก็ตาม6
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย7 ถ้าหากข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม

โดย จุฬาวุฒิ คณารักษ์
สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย

อัพเดทล่าสุด