มาตรา ๑๑๙(๑) การไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณี "ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ"


504 ผู้ชม


มาตรา ๑๑๙(๑) การไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณี "ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ"




คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๗๑/๒๕๔๒ เมื่อลูกจ้างกระทำผิดวินัยเกี่ยวกับการทำงาน นายจ้างย่อมมีอำนาจออกหนังสือตักเตือน และมีอำนาจนำหนังสือตักเตือนไปประกาศให้ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัย และลูกจ้างอื่นทราบได้ การที่ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัย ไปฉีกทำลายประกาศหนังสือตักเตือนของนายจ้าง โดยพลการ ทำให้ทรัพย์สินคือหนังสือตักเตือนของนายจ้างต้องสูญหาย และขาดประโยชน์ และอาจทำให้ลูกจ้างอื่นเอาอย่าง ทำให้นายจ้างไม่สามารถปกครองบังคับบัญชาลูกจ้างได้ การกระทำของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
 
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๓๑/๒๕๔๒ การที่ลูกจ้างให้คำปรึกษากับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ซึ่งเป็นคู่แข่งกับหนังสือพิมพ์ของนายจ้าง กรณีถือได้ว่าลูกจ้างได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จากหน้าที่การงานที่ลูกจ้างทำกับนายจ้าง โดยทำงานให้แก่ธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้าง ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรง
 
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๐๙/๒๕๔๒ การที่ลูกจ้างมีชู้กับพนักงานช่างประจำโรงแรมของนายจ้าง แม้จะไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรม หรือในเวลาทำงาน ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติ และประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ครอบครัวผู้อื่นแตกแยก และเป็นที่รู้กันทั่วในหมู่พนักงานโรงแรมของนายจ้าง การกระทำของลูกจ้าง และชายชู้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการปกครองบังคับบัญชาพนักงานโรงแรมของนายจ้าง รวมทั้งชื่อเสียงของโรงแรมนายจ้างด้วย เนื่องจากลูกจ้างมีตำแหน่งฝ่ายบริหาร เป็นถึงผู้จัดการแผนกต้อนรับ แต่กลับประพฤติชั่วเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แก่พนักงานอื่น ๆ การกระทำของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง

อัพเดทล่าสุด