มาตรา ๑๗ การบอกกล่าวล่วงหน้า
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๒๕–๔๗๐๑/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง นายจ้างมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้าง แต่ลูกจ้างทราบการบอกกล่าวในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ดังนี้ต้องถือว่านายจ้างบอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้าง ในวันที่ลูกจ้างได้ทราบการบอกกล่าวเลิกจ้าง คือวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และเป็นผลให้เลิกสัญญาจ้างกัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๔๙–๘๓๖๕/๒๕๔๒ ก็วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน ) คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๔๗/๒๕๔๒ บทบัญญัติมาตรา ๑๗ วรรคสอง ได้กำหนดหลักการเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้า เพื่อเลิกสัญญาจ้างขึ้นใหม่เป็นพิเศษยิ่งกว่าประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ โดยกำหนดว่าในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเมื่อถึง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาจ้าง อาจทำเป็นหนังสือ หรืออาจบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ได้ทำเป็นหนังสือ ได้ถูกจำกัดโดยมาตรา ๑๗ วรรคท้ายว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ กล่าวคือ ถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยวาจาได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่า ถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวนั้นไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง มาตรา ๑๗ วรรคสาม จึงหาได้บังคับเด็ดขาดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยวาจาไม่ ( คำพิพากษากาที่ ๙๕/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน )