“บุตร” หมายความว่าอย่างไร ?
คำพิพากษาฎีกา 4940/2545 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมย์ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายซึ่งออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคมเพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักจะอยู่กันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์เป็นบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. ผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณี ส. ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ มาตรา 73 (2)
หมายเหตุ
มาตรา 73 ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ดังนี้
เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน
ที่มา : สมบัติ ลีกัล