หน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง


780 ผู้ชม


หน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง




คดีแดงที่  4198/2546

บริษัทข้าวเศรษฐี จำกัด โจทก์
สำนักงานประกันสังคม จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 575 , 587
พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 , 33 , 34 , 35 , 46 , 47 , 84

ผู้ประกอบกิจการที่จะอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานรับเหมาค่าแรง ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างเหมาค่าแรงให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงรายใดรายหนึ่งเป็นผู้จัดหาคนงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงนำงานอันเป็นธุรกิจ หรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการไปให้คนงานของผู้รับเหมาค่าแรงทำในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงานโดยใช้เครื่องมือที่สำคัญในการทำงานของผู้ประกอบกิจการ และคนงานเหล่านั้นต้องมีฐานะเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงด้วย

โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ในการขนข้าวลงเรือไปขายให้แก่ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ โจทก์ว่าจ้าง ส. จีนเต็งใหญ่เป็นผู้รับเหมาค่าแรงขน ส. จะให้ ท. จีนเต็งหัวหน้าสายเป็นคนจัดหาคนงานซึ่งสมัครใจรับจ้างรายวันเฉพาะกิจเป็นคราว ๆ มาขนข้าวสาร โดยก่อนขนข้าวสารลงเรือ คนงานต้องผสมข้าวสารด้วยเครื่องจักรของโจทก์และบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพานในโกดังของโจทก์ อันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ทำงานที่โจทก์เป็นผู้จัดหา แล้วแบกกระสอบข้าวสารไปลงเรือ การทำงานของคนงานจึงอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของ ส. ส. ย่อมมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือคนงานทุกคน ประกอบกับ ส. เป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานที่มาแบกขนข้าวสารแต่ละวัน นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับคนงานจึงเข้าลักษณะจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ส. มีฐานะเป็นนายจ้างของคนงาน และเมื่อการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะนายจ้างของคนงานทั้งหมดด้วย เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์มีลูกจ้างเกิน 10 คน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง กรณีเปลี่ยนวันที่มีหน้าที่ชำระเงินสมทบ และชำระเงินสมทบให้แก่จำเลย

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของกองตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคม ตามหนังสือที่ รส ๐๗๐๕/๑๖๑๓ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๐๖๓/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

จำเลยให้การว่า คำสั่งของกองตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคม รวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ รส ๐๗๐๕/๑๖๑๓ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๐๖๓/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีลูกจ้าง ๔ คน ประกอบธุรกิจค้าข้าวขายให้แก่ผู้ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งการซื้อขายและขนข้าวโจทก์จะจ้างเหมาให้ ส. ทำการขนข้าวลงเรือของผู้ซื้อ ส. จะให้ ท. เป็นคนจัดหาคนงานหรือกรรมกรซึ่งเป็นคนงานรับจ้างรายวันเฉพาะกิจ เป็นการว่าจ้างเป็นคราว ๆ ไปแล้วแต่ความสมัครใจของกรรมกร เสร็จแล้ว ส. จะจ่ายเงินให้กรรมกรไปก่อนแล้วเบิกเงินค่าจ้างจากโจทก์ สำหรับงานที่กรรมกรทำนั้นก่อนจะขนข้าวลงเรือจะต้องมีการผสมข้าวด้วยเครื่องจักร บรรจุใส่กระสอบผ่านสายพาน แล้วคนงานแบกกระสอบข้าวจากปลายสายพานนำไปลงเรือ เครื่องจักรดังกล่าวอยู่ในโกดังของโจทก์ การทำงานของคนงานที่ ส. ให้ ท. จัดหา ทำในสถานที่ทำงานของโจทก์ และเครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานเป็นของโจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ รส ๐๗๐๕/๑๖๑๓ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ ๑๐๖๓/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๕ บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานก็ดี โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจซึ่งกระทำในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงานของผู้ประกอบกิจการ และเครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานนั้นผู้ประกอบกิจการเป็นผู้จัดหา กรณีเช่นว่านี้ผู้ประกอบกิจการย่อมอยู่ในฐานะนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่ผู้รับเหมาค่าแรงตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานตามมาตรา ๓๔ ในฐานะนายจ้าง ให้ผู้รับเหมาค่าแรงมีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เช่นเดียวกับนายจ้าง ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดชอบในหนี้เงินสมทบ และเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นำส่งสำนักงาน" บทมาตรานี้หมายความว่า ผู้รับเหมาค่าแรงต้องเป็นผู้จัดหาลูกจ้างให้แก่ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้รับเหมาค่าแรงนำงานอันเป็นธุรกิจหรือกระบวนการผลิตของผู้ประกอบกิจการมาให้ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงทำ โดยผู้รับเหมาค่าแรงเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงซึ่งเข้าไปทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ทำงานและใช้เครื่องมือที่สำคัญในการทำงานของผู้ประกอบกิจการ จึงจะถือว่าผู้ประกอบกิจการอยู่ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงและมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการตามมาตรา ๓๔ และจ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงต่อสำนักงานประกันสังคม หากผู้รับเหมาค่าแรงได้จ่ายเงินสมทบสำหรับลูกจ้างของตนต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นความรับผิดเท่าจำนวนที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้จ่ายแก่สำนักงานประกันสังคม ฉะนั้น คนงานที่มาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการจะต้องเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง ตามบทบัญญัติมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างโดยวิธีเหมาค่าแรงมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง และมาตรา ๓๕ วรรคสองที่บัญญัติว่า … ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดชอบในหนี้เงินสมทบและเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นำส่งสำนักงาน หมายความว่า ผู้รับเหมาค่าแรงต้องเป็นนายจ้างของคนงาน ผู้รับเหมาค่าแรงจึงจะมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคมตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดในเงินสมทบและเงินเพิ่มเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นำส่งสำนักงานประกันสังคม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อโจทก์จะต้องขนข้าวลงเรือให้แก่ผู้ซื้อจากต่างประเทศ โจทก์จะว่าจ้าง ส. จีนเต็งใหญ่เป็นผู้รับเหมาค่าแรงทำการขนข้าวลงเรือ ส. จะแจ้งให้ ท. จีนเต็งหัวหน้าสายไปจัดหากรรมกรตามจำนวนพอเหมาะกับปริมาณข้าวที่จะขนถ่ายลงเรือมาแบกขน ก่อนขนข้าวลงเรือกรรมกรจะต้องผสมข้าวด้วยเครื่องจักรภายในโกดังของโจทก์ แล้วบรรจุใส่กระสอบผ่านสายพาน และให้กรรมกรรอแบกกระสอบข้าวจากปลายสายพานไปลงเรือ การทำงานดังกล่าวทั้งหมดของกรรมกรอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งการของ ส. ส. จึงมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือกรรมกรทุกคน ประกอบกับ ส. เพียงผู้เดียวเป็นคนจ่ายค่าจ้างให้แก่กรรมกรที่มาแบกขนข้าวแต่ละวัน นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับกรรมกรดังกล่าวเข้าลักษณะจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ส. จึงเป็นนายจ้างของกรรมกรทั้งหมด เมื่อปรากฏว่า ส. ควบคุมกรรมกรให้ทำงานในโกดังอันเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์และใช้เครื่องมือที่สำคัญสำหรับใช้ทำงานที่โจทก์เป็นผู้จัดหา โดยการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจของโจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะนายจ้างของกรรมกรทั้งหมดด้วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์มีลูกจ้างเกิน ๑๐ คน โจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (ตามแบบ สปส. ๖ - ๑๕) กรณีเปลี่ยนวันที่มีหน้าที่ชำระเงินสมทบจากวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๒ เป็นวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ และต้องชำระเงินสมทบตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๑ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ตามหนังสือของกองตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคมที่ รส ๐๗๐๕/๑๖๑๓ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ ๑๐๖๓/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนหนังสือของกองตรวจสอบ สำนักงานประกันสังคม และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

 

(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - อรพินท์ เศรษฐมานิต )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายสละ เทศรำพรรณ

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด