เรื่อง สปส. ออกโรงแจงดูแลและคุ้มครองผู้ประกันตนตั้งแต่เกิด-ตาย !


642 ผู้ชม


เรื่อง สปส. ออกโรงแจงดูแลและคุ้มครองผู้ประกันตนตั้งแต่เกิด-ตาย !




รายละเอียด 79/2548

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้ถึงความคุ้มค่าของการทำประกันสังคมจ่ายน้อยแต่คุ้มครองผู้ประกันตนตั้งแต่เกิด-ตาย คาดปี 2549 เตรียมขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ

 
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้แจงถึงเงิน 5% ที่หักเป็นค่าประกันสังคมจากลูกจ้างในสถานประกอบการทั่วประเทศ ว่า

 
“กฎหมายประกันสังคม กำหนดให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ให้มีหลักประกันทางสังคม ทั้งหลักประกันรายได้และสวัสดิการ ปัจจุบันมีลูกจ้างในสถานประกอบการกว่า 8 ล้านคนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยกำหนดให้ 3 ฝ่ายคือ รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน จะต้องจ่ายเงินสมทบร่วมกัน โดยนายจ้าง ลูกจ้างจ่ายฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง ส่วนรัฐบาลจ่ายสมทบให้ลูกจ้าง 2.75% โดยได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี”

 
อัตราเงินสมทบกองทุนฯ ที่จัดเก็บขณะนี้คือ อัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในแต่ละเดือน ซึ่งในการคิดเงินสมทบได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และค่าจ้างสูงสุดเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งค่าจ้างสูงสุดที่นำมาหักเงินสมทบ 15,000x5% =750 บาท ซึ่งหมายถึงลูกจ้างที่มีค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาทหรือมากกว่าต้องถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินสมทบสูงสุดและในจำนวนเงินสมทบที่ลูกจ้างจ่าย 750 บาททุกเดือน สปส.ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตั้งแต่เกิด-ตาย ดังนี้

 
กรณีคลอดบุตร (จ่ายเงินสมทบ 0.12% =18 บาท/เดือน) เบิกค่าคลอดบุตรได้ครั้งละ 6,000 บาท/ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้อีกประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง ซึ่งรวมแล้วได้รับเงินทั้งสิ้น 28,500 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง นอกจากนั้นจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอีกเดือนละ 200 บาท ต่อบุตร 1 คน โดยให้เบิกได้พร้อมกันคราวละ 2 คน รวมเป็นเดือนละ 400 บาท โดยจะให้เบิกได้ตั้งแต่เกิดจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์

 
กรณีชราภาพ (จ่ายเงินสมทบ 3%= 450 บาท/เดือน) แยกเป็นเงินบำเหน็จและเงินบำนาญรายเดือนตลอดชีพในกรณีจ่ายเงินสมทบครบ180 เดือนหรือ 15 ปี จะได้รับคืนเป็นเงินบำนาญเดือนละ15% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบมากขึ้น เช่น จ่ายเงินสมทบ 35 ปีก็จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 35% ของค่าจ้างไปตลอดชีวิต และในกรณีจ่ายเงินไม่ครบ 180 เดือนหรือ 15 ปี จะได้รับเงินคืนในรูปของเงินก้อน เรียกว่าเงินบำเหน็จ ตามหลักเกณฑ์คือ จ่ายเกิน 12 เดือนแต่ไม่ถึง 180 เดือนจะได้รับคืนในส่วนเงินออมของผู้ประกันตน และของนายจ้าง รวมทั้งเงินผลประโยชน์ตอบแทน

 
ดังนั้นการประกันสังคมกรณีชราภาพ จึงเป็นเงินออมที่ผู้ประกันตนได้รับคืนทั้งหมด ในกรณีจ่ายเงินสมทบ เดือนละ 750 บาท จะได้รับคืนเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนเดือนละ 450 บาทบวกกับเงินออมของนายจ้างอีก เดือนละ 450 บาท รวมเป็นเงินออมเดือนละ 900 บาท ที่ผู้ประกันตนได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตน สิ้นสุดลง ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเดือนละ 750 บาท เป็นเวลา 14 ปี เมื่อลาออกตอนอายุ 55 ปี จะได้รับเงินคืนจำนวน 151,200 บาท รวมเงินผลประโยชน์ตอบแทน

 
กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย (จ่ายเงินสมทบ 0.88% =132 บาท/เดือน) สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยจะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม นอกจากนั้นในระหว่างพักรักษาตัวจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 250 บาท เป็นเวลา 180 วัน/ปี หากป่วยเรื้อรังจะได้รับ 365 วัน
กรณีทุพพลภาพ (จ่ายเงินสมทบ 0.44%=66 บาท/เดือน) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เดือนละ 7,500 บาทตลอดชีวิต และค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท

 
กรณีเสียชีวิต (จ่ายเงินสมทบ 0.06%=9 บาท/เดือน) ได้ค่าทำศพ 30,000 บาท และเงินสงเคราะห์แก่ทายาท ตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบ คือหากส่งเงินสมทบ 3 ปีขึ้นไปได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเดือนครึ่ง เป็นเงิน 22,500 บาท และส่งเงินสมทบ 10 ปีขึ้นไปได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 5 เดือน เป็นเงิน 75,000 บาท

 
กรณีว่างงาน (จ่ายเงินสมทบ 0.5%= 75 บาท/เดือน) ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนหางานและขอรับประโยชน์ทดแทนที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกโดยจะได้รับสิทธิการขาดรายได้ระหว่างว่างงาน หากถูกเลิกจ้างได้รับเงินทดแทนในอัตราวันละ 250 บาท เป็นเวลา 180 วันใน 1 ปี รวมเป็นเงิน 45,000 บาท (ในกรณีว่างงานเป็นเวลา 6 เดือน) กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดจ้างแน่นอน ได้รับเงินทดแทนในอัตราวันละ 150 บาท เป็นเวลา 90 วันใน 1 ปี รวมเป็นเงิน 13,500 บาท (กรณีว่างงานเป็นเวลา 3 เดือน)

 
“สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของเงินที่จ่าย ซึ่งภาระในการจ่ายส่วนแบ่งของรายได้ปัจจุบันถือเป็นเงินออม หรือรายได้ในอนาคตของผู้ประกันตนเอง เป็นหลักประกันให้กับผู้ประกันตนให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ สปส.กำลังแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เอื้อประโยชน์กับลูกจ้างผู้ประกันตนมากขึ้น คาดในปี 2549 จะขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบให้ได้รับความคุ้มครองประกันสังคมด้วย” เลขาธิการ ฯ กล่าวย้ำในตอนท้าย

 

.....................................

ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์/โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th



ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์/โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th

อัพเดทล่าสุด