เรื่อง ประกันสังคมย้ำช่องทางชำระเงินของผู้ประกันตน ม. 39


740 ผู้ชม


เรื่อง ประกันสังคมย้ำช่องทางชำระเงินของผู้ประกันตน ม. 39




รายละเอียด 69/2548

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ย้ำถึงช่องทางการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 สามารถจ่ายเงินได้ที่ สปส. ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยาธนาคารกรุงไทย และที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีของผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 จำนวนมากได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ กรณีขอกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่อ ซึ่งได้สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนลงเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคมว่า
“สปส. ได้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางการนำส่งเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 มาตลอดซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำส่งเงินสมทบได้หลายช่องทาง ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด พร้อมแบบส่งเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-11) ,จ่ายด้วยเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ทุกแห่งทั่วประเทศ, หักบัญชี เงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และจ่ายเงินทางธนาณัติ พร้อมแบบส่งเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา(สปส.1-11)นอกจากนั้นในเร็ว ๆ นี้ สปส. ได้ร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกันตนสามารถจ่ายเงินสมทบผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศได้ด้วย”
โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องนำส่งเงินสมทบจำนวน 432 บาท/คน/เดือน ในช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่15 ของทุกเดือน หากนำส่งเกินกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน สำหรับสาเหตุที่จะทำให้ความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 สิ้นสุดลง คือไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ) ,ลาออก ,กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ,เสียชีวิต และภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนจากสาเหตุขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน ถึงแม้จะยื่นอุทธรณ์ได้หากไม่มีเหตุผลที่เชื่อถือได้หรือไม่สุดวิสัยจริง ๆ คณะกรรมการอุทธรณ์ไม่สามารถอนุมัติให้กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อได้
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า “ทั้งนี้หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดตามที่ท่านได้สมัครเป็นผู้ประกันตนไว้ หรือโทร.สายด่วน 1506 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อให้ท่านไม่เสียสิทธิและได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง”

 
ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์ /โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th


ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์/โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th

อัพเดทล่าสุด