เรื่อง แรงงานนอกระบบมีลุ้น ! ผลศึกษามีความคืบหน้า


535 ผู้ชม


เรื่อง แรงงานนอกระบบมีลุ้น ! ผลศึกษามีความคืบหน้า




รายละเอียด 73/2548

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงความคืบหน้าการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคม สู่แรงงานนอกระบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในระดับหนึ่ง
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ว่า
"จากผลการศึกษาของสำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และข้อมูลความต้องการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ ได้นำมากำหนดแนวทางการขยายความคุ้มครอง ฯ โดยแบ่งแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นผู้ที่มีการทำงาน มีรายได้แต่ไม่มีนายจ้าง และยังไม่ได้รับความคุ้มครองประกันสังคมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ที่มีการทำงานหรือรับจ้าง มีรายได้ และไม่มีนายจ้าง เช่น ผู้รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล (แรงงานภาคเกษตร) แรงงานในกิจการประมง ฯลฯ กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น คนขับรถรับจ้าง ผู้ทำการเกษตรทั้งที่เป็นที่ดินตนเองหรือที่เช่า หาบเร่แผงลอย ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม ช่างซ่อมรองเท้า ช่างซ่อมนาฬิกา เจ้าของร้านขายของชำ ทนายความ แพทย์ ทันตแพทย์ ฯลฯ”
ด้านรูปแบบกองทุนและการบริหารจัดการ ให้แยกออกจากกองทุนประกันสังคมปัจจุบันและกำหนดเป็น ภาคบังคับ แต่ในระยะเริ่มแรกจากปี 2549-2551 ให้ใช้ระบบสมัครใจโดยคุ้มครองทุกกลุ่มอาชีพทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะเป็นการบังคับโดยวิธีกำหนดให้กลุ่มอาชีพเข้าระบบจนครบทุกกลุ่มอาชีพภายใน 3 ปี คือปี 2552-2554 หลักการให้ความคุ้มครองยึดหลัก เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข สิทธิประโยชน์ที่ได้รับในระยะแรก ให้ความคุ้มครองกรณีชราภาพ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ในอนาคตอาจจะพิจารณาขยายความคุ้มครองเพิ่มอีก 3 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร และสงเคราะห์บุตรโดยคำนึงความเหมาะสมในทุกด้าน ส่วนการจัดเก็บเงินสมทบเป็นแบบฝ่ายเดียว อัตราเดียว (Flat Rate) ขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณเพื่อหาอัตราที่เหมาะสม โดยที่รัฐช่วยเหลือสนับสนุนเงินสมทบในการดำเนินงาน โดยไม่กำหนดเป็นอัตราตายตัวให้เป็นการยืดหยุ่นตามเสถียรภาพของกองทุน
เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การติดต่อและการให้บริการเบื้องต้น อาทิ การขึ้นทะเบียน การจัดเก็บเงินสมทบ และจ่ายสิทธิประโยชน์ ดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เพื่อรองรับรูปแบบ เงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนการบริหารจัดการกองทุนฯ”

 
ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์ /โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th


ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์/โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th

อัพเดทล่าสุด