เรื่อง สปส.หนุนแนวคิดจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญฯ เพื่อผู้ประกันตน
รายละเอียด 74/2548
ประกันสังคมหนุนแนวคิดจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเงินออมหลายชั้น ถือเป็นการเพิ่มเงินออมให้ผู้ประกันตน และสร้างความยั่งยืนทางการเงิน-การคลัง
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงโครงการการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีเงินออมหลังการเกษียณอายุอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ว่า
“สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเงินออมเพื่อการชราภาพ ซึ่งมีผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมเป็นกรรมการในการศึกษาและจัดทำโครงการปฏิรูปกองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ และให้ขยายไปสู่ระบบประกันสังคมโดยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับและให้ขยายรูปแบบการออมเพื่อการเกษียณอายุแบบสมัครใจ”
จากผลการศึกษาเห็นควรให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนเงินออม และมีการเก็บเงินสะสม/สมทบจากลูกจ้าง นายจ้างให้มีรูปแบบเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้กำลังแรงงานมีเงินออมหลังการเกษียณอายุได้อย่างเพียงพอต่อจากระบบเดิมที่มีอยู่ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นำเสนอโครงการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้แรงงานมีรายได้เพียงพอ เพิ่มเงินออม และสร้างความยั่งยืนทางการเงินการคลัง
การดำเนินงานของ สปส.ในระยะต่อไปอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพ เพื่อให้ผู้เกษียณอายุได้รับเงินบำนาญในอัตราไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามอนุสัญญาความมั่นคงฉบับที่ 102 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งผลการศึกษาอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาต่อไป รวมถึงศึกษาแนวทางการขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ซึ่งเป็นบำนาญขั้นพื้นฐานด้วย
เลขาธิการ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า “หากกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลบังคับใช้ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ในด้านของความมั่นคง จะทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนมีเงินออมเพิ่มมากขึ้นสำหรับใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ จากเดิมที่มีเพียงบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม หรือจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่อาจจะมีผลกระทบต่อการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา หลักการ เหตุผล และรายละเอียดเบื้องต้นเท่านั้น”
ศูนย์สารนิเทศ โทรศัพท์ /โทรสาร 0-2956-2534 www.sso.go.th