โรดแม็ปแรงงานไทย ยุคไฮ - เทค
ปัญหาระบบแรงงานในประเทศไทย เป็นความหลากหลายทั้งในปริมาณเรื่องความรุนแรง กับความสัมพันธ์ของระบบกฏหมาย ระบบการจัดการระบบเศรษฐกิจสังคมและสถานการณ์การแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ หากไม่มีหลักในการจัดกลุ่ม วางแนวคิดให้เป็นระบบระเบียบแล้ว คงจะหาแผนที่ชี้ทาง (Roadmap) ให้แรงงานไทยก้าวไปสู่ความศิวิไลซ์ที่ทันสมัย (Hit-tech)ได้ยาก สาระพันปัญหาที่หลั่งไหลเข้าสู่การปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรนั้นมีจำนวนมากซึ่งแม้จะตั้งรับด้วยการจัดตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นหลายชุด ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณเรื่องก็ยังไม่ลดละ แต่จากปริมาณของปัญหาที่ผ่านมา ก็เป็นข้อมูลอันทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ตกปลผึกในภาพรวมของระบบแรงงานของประเทศ ว่าเราน่าจะมี Roadmap ไปทางไหน จึงนับเป็นคุณูปการที่คณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องทุกข์ที่บ่าไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น ผมขมวดปัญหาโดยมองผ่านแว่นวิเศษผ่านเครื่องมือ ทางการบริหารที่เรียกกันว่า Balance Score Card หรือ BSC ซึ่ง Kaplan และ Norton จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นเจ้ายุทธจักรในศาสตร์ทางการบริหาร เพื่อสร้างความสมดุลในการดำเนินงานทุกด้านได้แก่ ด้านการเงิน (Financial perspective) ด้านผู้เกี่ยวข้อง (Customer perspective) ด้านกระบวนการจัดการภายใน (Internal Business-Process Perspective) และการเติบโตขององค์กร (Learning and Growth perspective) นอกจากนั้นระบบ BSC ยังช่วยควบคุมความสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้น และระยะยาวของแผนงานกำกับความสมดุลระหว่างเป้าหมาย (target) กับผลที่เกิดขึ้นจริง (Actual Result)ได้ ดังนั้นผมจึงตั้งหลักมองปัญหาและแนวทางพัฒนาระบบแรงงาน ด้วยการตั้งกรอบแผนที่ชี้ทาง (Roadmap) ผ่านระบบ BSC ที่จะต้องแก้ไขและพัฒนาไปพร้อมๆกันทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้ระบบแรงงานเรามีดุลยภาพในการพัฒนา มิใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและขาดการบูรณาการตามธรรมชาติของระบบราชการเช่นทุกวันนี้ Roadmap มุมที่ 1 ด้านการเงิน (Financial perspective) ระบบแรงงานจะต้องแก้ไขปรับปรุงเรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังต่อไปนี้ 1) ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นระบบค่าจ้างภาคเอกชน 2) ระบบการจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ แก้ไขปัญหาการหลอกลวงแรงงาน ส่งแรงงานไปเพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำ แต่ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อส่งกลับเข้ามายังประเทศไทย 3) แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฏหมาย พร้อมทั้งทำงานในอาชีพต่างๆ โดยมิต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ต้องเร่งดำเนินการให้ถูกต้อง จัดระเบียบให้สมดุลระหว่างความมั่นคงกับความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานไทยได้ทำงานทดแทนในอาชีพนั้นๆ 4) ส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ให้เกิดการไหลเวียนของเศรษฐกิจ กระจายรายได้ให้ชาวไทยมีงานทำ Roadmap มุมที่ 2 ด้านความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง (Customer perspective) ในที่นี้ก็คงต้องมุ่งไปที่ไตรภาคีได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ (นโยบายของรัฐ) มีเรื่องหลักๆ ที่จะดำเนินการแบบเรื่อยๆเฉื่อยๆ ไม่ได้อีกแล้ว แต่ควรจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) ระบบสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างอยู่ดี พัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ให้เข้มแข็งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายรวมถึงระบบประกันสังคมด้วย 2) ประชาชนนอกระบบและในระบบแรงงาน มีงานทำ มีรายได้ มีความปลอดภัย มีอาชีวอนามัย และไม่ทำสิ่งแวดล้อมเสียหาย ระบบประกันสังคมขยายความครอบคลุมสู่ประชาชนหรือแรงงานนอกระบบ 3) พัฒนาระบบร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายมั่นใจ อบอุ่นใจ และรวดเร็วในการแก้ปัญหาเยียวยาความเดือดร้อนได้อย่างทันการณ์ 4) พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ต้องปรับปรุงยกร่องใหม่ ให้พลิกยุคทันสถานการณ์ของปัญหา Roadmap มุมที่ 3 ด้านกระบวนการจัดการภายใน (Internal-Businexx-Process-perspective) เรื่องใหญ่มากทีเดียวที่จะต้องแก้ไข เพราะกระบวนการดำเนินการภายใน เป็นเรื่องของการดำเนินการทุกอย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญระหว่างคนกับระบบ เป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จในการบริหารทุกเรื่อง คัดแล้วเร่งด่วน 4 เรื่อง คือ | | 1) การขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นทุกระดับ การแก้ปัญหาหัวคิวแรงงาน 2) การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ให้เป็นฐานของการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ให้เป็นธรรม ในระบบตัวแทนสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลในระดับบริหารนโยบายได้อย่างแท้จริง 3) การจัดหางานและการส่งเสริมการมีงานทำต้องเข้มข้นเป็นระบบอัตราการว่างงานต้องลดลง 4) ระบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยช้าไม่ได้แล้ว รวมไปถึงระบบการศึกษาที่จะผลิตทรัพยากรมนุษย์สู่ระบบแรงงานด้วยต้องมีแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อสร้างคนให้เข้าสู่งาน Demand & Supply สมดุลกัน อย่าปล่อยให้ระบบอาชีวศึกษาล้มเหลวยาวนาน การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด มิใช่พัฒนาคนตามศักยภาพที่มี Roadmap มุมที่ 4 ด้านการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ (Learning and Growth perspective) เป็นมุมมองในเชิงเป้าหมาย ที่จะทำให้เกิดความรุ่งเรืองเช่นใดในระบบแรงงาน ควบคู่ไปกับระบบการเรียนรู้จากกระแสโลกาภิวัตน์ แนวคิดที่สำคัญเชิงวิสัยทัศน์คือกระทรวงแรงงานจะเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติในเชิงบูรณาการ 1) กระทรวงด้านเศรษฐกิจที่จะผลิตมูลค่าเพิ่ม เปรียบเป็นผึ้งงานที่จะหารายได้เลี้ยงคนทั้งประเทศ 2) แระทรวงที่เป็นที่พึ่งของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งปัจจุบันประมาณว่ามีถึง 37 ล้านคนทั้งในระบบและนอกระบบ 3) กระทรวงที่มีการพัฒนาทักษะและความสามารถทันกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยีของเครื่องจักรทดแทนแรงคน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย 4) กระทรวงที่ทำให้ประเทศไทยเป็นองค์กรชั้นนำระดับภูมิภาคในเรื่องของการจัดระบบและการพัฒนาแรงงาน ที่ผมคัดมามุมละ 4 เรื่อง ก็เพื่อให้น้ำหนักของ Balance Score card ของระบบแรงงานมีความสมดุลในการพัฒนาไปพร้อมๆกัน กับการประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดัดแปลงจากตัวแบบของ BSC ได้ดังแผนภูมิภาพ ผมทำทาง 4 สายมานำเสนอแล้วดังภาพ ส่วนการที่จะทำให้ถนนทั้ง 4 สายนั้นบรรลุสู่เป้าหมายของรัฐบาลที่จะนำแรงงานไทยไปสู่ไฮ-เทคให้สำเร็จนั้นจำเป้นต้องทำแผนที่ชี้ทางในแต่ละด้านออกมา ซึ่งจะมีกลยุทธ์ที่ตรงหรือคดเคี้ยวไปมาอย่างไรนั้น ต้องรอดูฝีมือสร้างทางของกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้มีอำนาจทางการบริหารโดยตรงกอรปกับต้องได้รับแรงสนับสนุนอย่างยิ่งยวดจากผู้นำรัฐบาลอีกด้วย คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทราษฎร ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงด้านนิติบัญญัติ จะคอยส่งกำลังสนับสนุนช่วยปรับปรุงเส้นทางให้สวยงามบริสุทธิ์และรวดเร็วทันกระแสโลกาภิวัฒน์ให้ได้ ที่สำคัญคือ ต้องสร้างพร้อมๆกัน 4 สาย มิฉะนั้นแล้วจะเกิดสภาวะไม่สมดุล เป็นวงจรเลวร้ายที่ไม่รู้จบตามปัญหาแรงงานไม่ทัน....เช่นที่เป็นมาในอดีต
|
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน |