สิทธิของนายจ้าง ในการบังคับเมื่อ ลูกจ้างผิดหน้าที่
- ความรับผิดในดอกเบี้ย เมื่อนายจ้างกระทำผิดหน้าที่โดยไม่จ่ายค่าจ้างเงินเดือนตามเวลาที่กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินหรือเมื่อถึงเวลาจ่ายอื่นๆ ถือว่านายจ้างผิดนัดชำระหนี้ (มาตรา 204 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งลูกจ้างสามารถ กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้นายจ้างชำระหนี้หากยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดดังกล่าว ลูกจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 387) และกรณีนี้เป็นกรณีที่นายจ้างผิดหน้าที่หลักในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน ซึ่งทำให้ต้องรับผิดในดอกเบี้ย ตามอัตราร้อยละ 7 ½ ต่อปี (มาตรา 224 ) หรืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี กรณีเป็นนายจ้างที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย นอกจากนั้นยังอาจต้องรับผิดในเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันผิดนัด หากนายจ้างจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุอันสมควร (มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)
- กำหนดให้สิทธิพิเศษแก่ลูกจ้าง กฎหมายแพ่งกำหนดให้ลูกจ้างเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ในลำดับเดียวกับค่าภาษีอากร (มาตรา 253 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เพื่อคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจให้ได้รับชำระค่าจ้างเงินเดือนก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์สามัญ (มาตรา 257) หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษ (มาตรา 259 (7) หรือ 272 ) แล้วแต่กรณี ดังที่จะได้กล่าวในเรื่องสิทธิของลูกจ้าง ความเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์นี้มีได้สำหรับค่าจ้างเงินเดือนที่ค้างชำระ รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หรือเงินประเภทอื่นด้วยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่นายจ้าง
- ความรับผิดในค่าเสียหาย ถ้าลูกจ้างได้รับความเสียหายจากการผิดหน้าที่ของนายจ้าง ก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างได้ในฐานที่ชำระหนี้ไม่ตรงตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ (มาตรา 215) หรืออาจเรียกค่าเสียหายเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ล่วงหน้าก่อนแล้ว (มาตรา 222 วรรค 2 ) นอกจากนั้นยังอาจเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบด้วย (มาตรา 420 , 434, 437)
- การบังคับให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายแทน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดให้คณะแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายกรณีนายจ้างผิดหน้าที่โดยการเลิกจ้างในลักษณะที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม (มาตรา 41 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์) และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานสัมพันธ์กำหนดให้ศาลแรงงาน มีอำนาจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเงินเดือนเท่ากับลูกจ้างเคยได้รับขณะที่เลิกจ้างหรือให้จ่ายค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน กรณีนายจ้างผิดหน้าที่โดยการเลิกจ้างในลักษณะที่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน)
- การเลิกสัญญา ลูกจ้างอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้เมื่อนายจ้างกระทำผิดหน้าที่ โดยอาศัยหลักกฎหมายแพ่งทั่วไปด้วยการกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อนเลิกสัญญา (มาตรา 387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หรือด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ช่วงการจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างเงินเดือน (มาตรา 582 วรรค 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือมาตรา 17 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี)
เนื้อหา : รศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม