สัญญาจ้างแรงงาน : สาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นสัญญา
จากการศึกษาแนวคิดพื้นฐานของการเกิดสัญญาจ้างแรงงาน
ทำให้เห็นและสรุปได้ว่า สัญญาจ้างแรงงานมีลักษณะเฉพาะ
กล่าวคือ สาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นสัญญา
สัญญาจ้างแรงงาน สาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นสัญญา ในภาษาลาตินเรียกสัญญาประเภทนี้ว่า Intuitus personae ซึ่งหมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาเข้าทำสัญญาโดยพิจารณาถึงตัวบุคลิกลักษณะของแต่ละฝ่ายประกอบด้วย สำหรับสัญญาจ้างแรงงานของไทยมีลักษณะเฉพาะดังกล่าวในกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องใช้สิทธิความเป็นนายจ้างด้วยตนเอง ถ้าจะโอนความเป็นนายจ้างไปยังบุคคลภายนอก ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและลูกจ้างก็ต้องทำงานด้วยตนเอง ถ้าจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็จะต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้าง
กรณีมีการฝ่าฝืน ก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 577) นอกจากนั้น ยังมีกฎหมาย บัญญัติว่า กรณีการจ้างแรงงานที่มีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างแรงงาน ย่อมระงับด้วยมรณะแห่งนายจ้าง (มาตรา 584) เหตุผลที่ความตายของนายจ้างไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับทุกกรณีซึ่งไม่เหมือนกับความตายของลูกจ้าง ที่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระงับทุกกรณี ก็เพราะว่า นายจ้างอาจมีได้หลายคนในขณะเดียวกัน กรณีที่มีการมอบหมายอำนาจความเป็นนายจ้าง เมื่อนายจ้างคนหนึ่งตายก็ยังมีนายจ้างคนอื่นที่สามารถดำเนินความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างต่อไปได้ สัญญาจ้างแรงงาน จึงยังไม่ระงับในกรณีดังกล่าว